รู้จัก รู้รักษ์ป่าชายเลน
รู้ไหมว่าป่าชายเลนนั้นเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล เพราะสามารถดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าป่าประเภทอื่น จากการที่พืชในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูง จึงต้องการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก ป่าชายเลนนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูดซับคาร์บอนแล้วดึงลงไปในผืนดินใต้ทะเลหรือดินเลนชายฝั่ง เรียกคาร์บอนเหล่านั้นว่า บลูคาร์บอน (Blue carbon) การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ลงสู่มหาสมุทรถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon sink) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ โดยคาร์บอนจะถูกปล่อยออกมาอย่างช้า ๆ ผ่านกระบวนการย่อยสลายในดิน ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยเนื่องจากสภาพไร้ออกซิเจนจากการท่วมขังของน้ำแต่ถ้ามีการตัดไม้ในป่าชายเลนจะไปลดการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และยังทำให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กลับสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้ง ในระบบนิเวศป่าชายเลนประกอบไปด้วยพืชจำพวก แสม ลำพู โกงกาง ถั่วขาว พังกาหัวสุม ฝาด และ โปรง เป็นต้น และยังมีแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และสัตว์ทะเลหน้าดินที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ปู กุ้ง หอย แมงดา อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากถือได้ว่าเป็นระบบนิเวศที่มีห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง และด้วยความที่ป่าชายเลนนั้นเป็นดินเลนมีน้ำทะเลท่วมถึงตลอดทำให้พืชเหล่านี้มีการปรับตัวมีรากแบบพิเศษช่วยยึดเกาะหน้าดิน ลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นเสมือนเกาะป้องกันภัยจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดแรงทำลายล้างของพายุโซนร้อนหรือแม้กระทั่งลดความรุนแรงการเกิดสึนามิ ในขณะที่ป่าชายเลนสร้างประโยชน์ให้กับเรามากมาย แต่พื้นที่ของป่าชายเลนเองกลับลดลงอย่างน่าใจหาย สาเหตุก็มาจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย การทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำเกษตรกรรม การประมง การทำเหมืองแร่ การขุดลอกร่องน้ำ การทำเขื่อนกั้นน้ำ การตัดไม้เกินกำลังการผลิตของป่า […]