แพ้นมวัวแล้วจะดื่มนมได้อย่างไร

นม เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและแคลเซียม รวมทั้งสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่มีคนจำนวนมากที่มีอาการแพ้นมและผลิตภัณฑ์จากนม จนไม่สามารถดื่มนมหรือบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมได้ แต่ทราบหรือไม่ว่าอาการแพ้นมวัวนี้ จริง ๆ แล้วสามารถแบ่งการแพ้ได้เป็น 2 ประเภท คือ Milk Allergy กับ Milk Intolerance

1. Milk Allergy

เป็นการแพ้ที่เกิดจากโปรตีนในน้ำนม (Cow’s milk allergy) การแพ้ในกลุ่มนี้เกิดจากปฏิกิริยาการแพ้โปรตีน (Allergic reaction) ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการป่วยมักจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ปากบวมและหลอดลมตีบ หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีหรืออาจเกิดหลังจากที่ดื่มนมหรือบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมหลายชั่วโมงต่อมา อาการแพ้มักพบในทารกและเด็กเล็ก

ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม รวมทั้งอ่านฉลากอาหาร เพราะในอาหารบางชนิดอาจมีส่วนผสมของนมที่เราไม่รู้ เช่น ไส้กรอก เนื้อสัตว์แปรรูป เครื่องดื่มให้พลังงานต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของเวย์ เป็นต้น

ปัจจุบันมีการพัฒนาอาหารทางการแพทย์ ทำให้ผู้ที่แพ้นมสามารถได้รับสารอาหารจากนมที่เพียงพอต่อร่างกาย เช่น อาหารทางการแพทย์จากโปรตีนถั่วเหลือง (Soy protein-based formula), อาหารทางการแพทย์สูตรเปปไทด์สายสั้น (Extensively hydrolyzed formula) ซึ่งนำโปรตีนนมมาผ่านกระบวนการย่อยโดยใช้เอนไซม์ ความร้อน  เพื่อให้โปรตีนแตกตัวเป็นเปปไทด์สายสั้น ๆ เป็นต้น

2. Milk Intolerance

Milk Intolerance หรือภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (Lactose Intolerance) เป็นการแพ้ที่เกิดจากการขาดเอนไซม์ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่เรียกว่า เอนไซม์แลคเตส (Lactase) การขาดเอนไซม์นี้มักเกิดจากการดื่มนมหรือบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมลดลง ทำให้ผนังลำไส้เล็กผลิตเอนไซม์ได้ลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ร่างกายสร้างเอนไซม์ไม่ได้ชั่วคราว จึงไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ เมื่อน้ำตาลแลคโตสเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ก็จะถูกแบคทีเรียในลำไส้ทำการย่อยน้ำตาลแทน แบคทีเรียจะสร้างแก๊สขึ้น ทำให้เรารู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องเสีย โดยอาการจะเกิดหลังจากที่ดื่มนมหรือบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมประมาณ 30 นาที – 2 ชั่วโมง ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำตาลแลคโตสที่ย่อยไม่ได้นั่นเอง

ดังนั้น จึงควรบริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบในปริมาณน้อย หรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการทำให้ไม่มีน้ำตาลแลคโตส เช่น นมเปรี้ยวและโยเกิร์ตที่ใช้กระบวนการหมักโดยจุลินทรีย์ ทำให้น้ำตาลแลคโตสเปลี่ยนเป็นกรดแลกติกที่ย่อยและดูดซึมได้ง่ายขึ้น หรือการเลือกดื่มนมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose free milk) ซึ่งมีการผลิตโดยนำน้ำนมมาผ่านกระบวนการย่อยด้วยเอนไซม์แลคเตส ทำให้น้ำตาลแลคโตสในนมเปลี่ยนรูปจากน้ำตาลโมเลกุลคู่เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ร่างกายจึงสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยอาหาร

ดังนั้น ถึงแม้จะมีอาการแพ้นม แต่ก็ไม่ควรเลิกดื่มนม ควรเลือกผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรืออาจจะเลือกดื่มนมจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าว เป็นต้น ซึ่งเป็นนมที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส และมีส่วนประกอบของโปรตีนที่แตกต่างจากที่พบได้ในนมวัว อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องเลือกบริโภคอาหารอื่นที่มีปริมาณโปรตีนและแคลเซียมสูงทดแทนด้วย เพื่อให้ได้สารอาหารที่เหมาะสมเพียงพอต่อวัน

อ้างอิง