การทำประมงเกินขนาด ปัญหาหนึ่งที่ถูกมองข้าม

ลองจินตนาการว่าภายใต้ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เลยจะเป็นอย่างไร ก็คงจะเป็นทะเลที่ว่างเปล่าไร้สีสัน และแน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงสัตว์ทะเลเช่น ปลา เต่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอย่างโลมากับวาฬ และสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อาศัยในท้องทะเล และยังเป็นตัวเพิ่มสีสันความสวยงามให้กับท้องทะเลอีกด้วย ซึ่งสัตว์ทะเลเหล่านี้กำลังมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว

โดยสาเหตุที่สัตว์ทะเลน้อยลงนั้นปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการประมงที่จับสัตว์ทะเลเกินขนาด (Overfishing) โดยอธิบายสั้น ๆ ว่าคือ การจับสัตว์น้ำเกินความสามารถในการผลิตของธรรมชาติ อาจจะเป็นประโยคที่ดูแล้วไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ภายใต้ของประโยคนี้ได้สร้างความเสียหายพอ ๆ กับปัญหาขยะในทะเล หรือปัญหามลพิษทางทะเล และอาจจะมีผลกระทบมากกว่านี้

สูญเสียสมดุลทางทะเล

การจับสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) เป็นการจับเฉพาะสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง (species target) โดยใช้เครื่องมือประมงอย่างเช่น เรือลากอวน แต่จะลากสัตว์ทะเลชนิดอื่นไปด้วย (non-species target) เช่น โลมา วาฬ เต่าทะเล แมวน้ำ นกทะเล และฉลาม โดยทุก ๆ ปี การทำประมงจะจับสัตว์ทะเลที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่สัตว์ที่จับได้จะตายเกือบทั้งหมด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจยังมีชีวิตรอด

แต่เมื่อปล่อยลงสู่ทะเลไม่นานก็คงตายอยู่ใต้ก้นทะเล มีผลให้ประชากรของสัตว์น้ำดังกล่าวลดลง เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และส่งผลไปถึงสมดุลของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ยกตัวอย่างฉลามที่ทุกคนกลัวกันนั้นเป็นผู้บริโภคลำดับสูงสุดในห่วงโซ่อาหารเป็นเหมือนผู้รักษาสมดุลประชากรของผู้บริโภคลำดับที่รองลงมาจากฉลาม เมื่อฉลามถูกจับไป สัตว์ที่เป็นลำดับรองลงมาก็จะมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสัตว์ทะเลเหล่านี้กินผู้ผลิตอย่างแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เมื่อประชากรมากแพลงก์ตอนที่ถูกกินก็จะน้อยลง ทำให้เสียสมดุลของห่วงโซ่อาหาร

นอกจากนี้ยังมีผลเสียต่อเศรษฐกิจในอนาคต…

บทเรียนของการจับปลาเกินขนาดเคยเกิดขึ้นในชีวิตจริงในช่วงหลังปี 1950 บริเวณน้ำตื้นเรียกว่า แกรนด์แบงส์ (Grand Bank) ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะนิวฟันด์แลนด์ (Newfoundland Island) ของไหล่ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาและสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ปลาค็อด (Cod) เป็นสัตว์ทะเลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ผู้คนที่ประกอบอาชีพประมงในเกาะนิวฟันด์แลนด์และประเทศต่าง ๆ หลั่งไหลมาจับปลาค็อด เช่น อังกฤษ เยอรมัน สเปน รวมถึงแถบทวีปเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นก็ได้นำเรือมาจับปลาค็อดเช่นเดียวกัน

อีกหนึ่งปัจจัยคือการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น ทำให้สามารถจับปลาได้เป็นจำนวนมากส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตของปลาค็อดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว มากไปกว่านี้ก็ยังมีการจับปลาเกินขนาดอยู่เหมือนเดิม สุดท้ายแล้วปลาชนิดนี้ก็ได้หายไปจากแกรนด์แบงส์ รัฐบาลจึงได้ประกาศห้ามจับปลาชนิดนี้โดยหวังว่าปลาจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและสามารถให้ผู้คนกลับมาทำอาชีพประมงได้ต่อไป แต่หลังจากคอยติดตามประชากรของปลาค็อดตลอด 20 กว่าปี ก็ไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และคนที่ประกอบอาชีพการประมงในเกาะประมาณ 30,000 คน ที่จำใจเปลี่ยนไปทำอาชีพอย่างอื่นแทน รัฐบาลจึงต้องจ่ายค่าเยียวยาให้กับผู้ที่รับผลกระทบเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายกับคนที่ไม่มีงานทำ

เมื่อเราเห็นผลกระทบของการจับปลาเกินขนาดแล้ว ก็พบว่าปัญหานี้ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยพบว่าบางอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนเงินทุน (subsidies) ทำให้เกิดช่องโหว่ที่จะส่งเสริมให้จับปลาเกินขนาดต่อไป ซึ่งสวนทางกับทรัพยากรสัตว์ทะเลที่ลดจำนวนลงและมีอยู่อย่างจำกัด เราอาจมองว่าการประมงเป็นเรื่องไกลตัวจากคนทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถมีส่วนช่วยให้เกิดการจับสัตว์ทะเลได้ยั่งยืน โดยวิธีง่าย ๆ ด้วยการศึกษาข้อมูลกระบวนการจับสัตว์ทะเล แหล่งที่มาของอาหารที่เราเลือกซื้อ และการปฏิเสธการบริโภคสัตว์ทะเลที่มาจากการทำประมงที่เกินขนาด แค่นี้ก็เป็นการช่วยสนับสนุนการทำประมงที่ถูกต้อง และลดผลกระทบจากการทำลายระบบนิเวศในท้องทะเลอีกด้วย

อ้างอิง