ขยะพลาสติกและปัญหาการรีไซเคิล

รู้สึกดีที่ได้รีไซเคิลอะไรบางอย่าง? ความรู้สึกที่เกิดจากการแยกขวดพลาสติกออกจากขยะชนิดอื่น ยิ่งคุณแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้คุณรู้สึกเหมือนกับว่าได้ช่วยโลกใบนี้ไว้ !!!

ในความเป็นจริงแล้วต่อให้เราทำความสะอาดและแยกพลาสติกสำหรับรีไซเคิลไว้ดีแค่ไหน สุดท้ายพวกมันก็จะไปจบลงที่กองขยะอยู่ดี

ในสหรัฐอเมริกามีพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลเพียงแค่ 2 ชนิดหลัก นั่นคือ พลาสติกจากขวดน้ำดื่มพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต / Polyethylene terephthalate (PET) และอีกชนิดคือพลาสติกที่ได้จากขวด ถัง หรือถาดต่าง ๆ พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง /High Density Polyethylene (HDPE) ซึ่งขยะพลาสติก 1 ใน 4 ของขยะพลาสติกทั้งโลกก็คือ พลาสติก 2 ชนิดนี้นั่นเอง จากการวิจัยในปี 2017 พบว่า การหลอมพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลนั้นทำให้ความเหนียวของพลาสติกลดลง ดังนั้น PET ที่ได้จากการรีไซเคิลจะถูกรวมเข้ากับ PET ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้มากขึ้นและการรีไซเคิล HDPE นั้นจะได้พลาสติกสีดำซึ่งเหมาะแก่การทำเก้าอี้ในสวนสาธารณะและถังขยะหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องการสีที่สวยงามมากนัก

ความยากของการรีไซเคิลพลาสติก คือการทำให้ผู้ใช้ต้องการที่จะใช้มัน นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมขยะพลาสติกถึงมีจำนวนมาก ข่าวล่าสุดระบุว่า สหรัฐอเมริกาสร้างขยะพลาสติก 42 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดในโลก ในขณะที่ไทยขึ้นแท่นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกต่อประชากร (กิโลกรัมต่อปี) สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีขยะพลาสติกในขยะทั่วไปในสัดส่วนมากเป็นอันดับ 3 ของโลกตัวเลขดังกล่าวข้างต้นมาจากงานวิจัยเรื่อง “The United States’ contribution of plastic waste to land and ocean” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยทำการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลของธนาคารโลกที่เก็บรวบรวมจาก 217 ประเทศ พบว่าในปี พ.ศ. 2559 ปริมาณขยะพลาสติกในสหรัฐอเมริกาที่หลุดออกสู่สิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลในปี พ.ศ.2559 มีมากกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 ถือว่าเป็นประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกออกสู่ทะเลมากที่สุดในโลก ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนลงมาเป็นอันดับ
2 จากที่เคยเป็นอันดับ 1 มาก่อน

สถานการณ์ขยะพลาสติกและระบบการจัดการขยะโดยรวมของประเทศไทย เดิมทีประเทศไทยมีระบบการ
จัดการขยะที่ค่อนข้างแย่ ในหนึ่งปีมีจำนวนขยะโดยรวมประมาณ 27-28 ล้านตัน มีขยะเพียงจำนวน 11.70 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกกำจัดโดยวิธีการฝังกลบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้องแต่ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพราะทำให้เกิดน้ำเสียทำให้ต้องมีมาตรการบำบัดน้ำเสียออกมารองรับ เฉลี่ยแล้วคนหนึ่งคนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัม เป็นขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 -13 ในขณะที่เขตกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 20 หรือ 2,000 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะรวมของกรุงเทพฯ 10,500 ตันต่อวัน

ข่าวดีคือปริมาณพลาสติกที่ถูกรีไซเคิลนั้นเพิ่มขึ้นแต่ข่าวร้ายก็คือปริมาณขยะพลาสติกที่บ่อขยะก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ปริมาณพลาสติกที่ถูกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแต่เมื่อเทียบกับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นแล้วก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ดี

ขยะพลาสติกถูกพบได้ทุกที่แม้กระทั่งยอดเขาที่สูงที่สุดหรือร่องลึกใต้มหาสมุทรที่ลึกที่สุด ปัจจุบันมีการใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาทดแทนพลาสติก แต่ด้วยความแข็งแรงที่น้อยกว่าและต้นทุนที่สูงกว่าทำให้ยังไม่สามารถแทนที่พลาสติกได้เท่าที่ควร ดังนั้นขยะพลาสติกยังคงอยู่กับเราต่อไปอีกสักพัก (ใหญ่ๆ) แต่ไม่ต้องห่วงเพราะนักวิทยาศาสตร์กำลังคิดค้นวิธีการรีไซเคิลแบบใหม่ ๆ ที่มุ่งเน้นไปที่การทำให้พลาสติกในถังขยะของเรานั้นสามารถนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีก 2-3 ชนิดโดยไม่ต้องสร้างขยะพลาสติกเพิ่ม

อ้างอิง