
หน่วยฐาน (base unit) เป็นปริมาณหลักของระบบเอสไอ (International System of Units หรือ SI units) และยังเป็นหน่วยการวัดพื้นฐานของหน่วยวัดอื่น ๆ ทั้งหมดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีทั้งหมด 7 ปริมาณ ได้แก่ มวล ความยาว เวลา กระแสไฟฟ้า อุณหภูมิอุณหพลวัต ความเข้มของการส่องสว่าง และปริมาณสาร โดยมีสัญลักษณ์ปริมาณ หน่วยฐาน และตัวย่อหน่วยฐาน ดังภาพ
ในสมัยก่อนหน่วยที่ใช้สำหรับวัดปริมาณต่าง ๆ มีหลายระบบ เช่น ระบบอิมพีเรียล ระบบเมตริก หรือ ระบบของไทย เป็นต้น ทำให้ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ต่อมาในปีพ.ศ. 2503 จึงมีการจัดทำหน่วยวัดรูปแบบใหม่ของระบบเมตริกขึ้นในที่ประชุม CGPM (General Conference on Weights and Measures) ซึ่งหน่วยวัดรูปแบบใหม่นี้มีชื่อว่า ระบบหน่วยวัดระหว่างประเทศหรือระบบเอสไอ (International System of Units หรือ SI units) นิยมใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งในวงการค้าและวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ ระบบเอสไอ เช่นกัน
แม้ว่าจะมีการจัดทำหน่วยวัดที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศแล้วก็ตาม แต่ทว่าแต่ละประเทศยังคงใช้ระบบหน่วยวัดเดิมร่วมด้วย ซึ่งสามารถพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น ในการระบุขนาดความกว้างและความยาวของสิ่งของด้วยหน่วยฟุตหรือนิ้วแทนการใช้หน่วยเมตร การชั่งมวลสิ่งของต่าง ๆ ยังพบเจอการใช้หน่วยปอนด์แทนการใช้หน่วยกิโลกรัม เป็นต้น