
โรคฝีดาษลิงคืออะไร
โรคฝีดาษลิงหรือไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เป็นโรคที่ใกล้เคียงกับโรคอีสุกอีใสแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับมีตุ่มผื่นตุ่มหนองทั่วตัว และต่อมน้ำเหลืองโต เกิดจากไวรัส Othopoxvirus ซึ่งเป็นไวรัสที่เกิดโดยธรรมชาติ พบในตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ
โรคฝีดาษลิงมีต้นกำเนิดมาจากไหน
เป็นโรคที่พบการระบาดครั้งแรกเมื่อ 60 ปีก่อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศคองโก โดยพบการติดเชื้อของสัตว์ตระกูลลิง พบที่แรกในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่ใช้ลิงในการทดลอง โรคฝีดาษลิงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกากลางมีความรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตและสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมากซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ ณ ขณะนี้
โรคฝีดาษลิงติดต่อได้อย่างไร
โรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ได้โดยการสัมผัสทางผิวหนัง หรือผ่านเยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก ตา ของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค การนำซากสัตว์ที่ป่วยมาปรุงอาหาร การถูกสัตว์ป่วยข่วน และการใช้เครื่องมือที่สัมผัสกับสัตว์ที่ป่วยได้อีกเช่นกัน โรคนี้จะมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 7–14 วัน หรืออาจนานถึง 24 วัน แม้ว่าโรคฝีดาษลิงจะมีโอกาสติดจากคนสู่คนได้น้อย แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้สามารถเสียชีวิตได้ โดยมีอัตราการเสียชีวิต 1-10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก
โรคฝีดาษลิงตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างไร
แพทย์จะทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยวิธี PCR ของเหลวจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หากพบว่าเป็นโรคฝีดาษลิง สามารถรักษาโดยให้ยาต้านไวรัส Cidofovir, Tecovirimat, Brincidofovir ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ แต่ภายหลังพบว่ากลุ่มเด็กเล็กมีความเสี่ยงมากที่สุด ถึงขั้นสามารถเสียชีวิตได้
อาการที่พบในโรคฝีดาษลิง
- อาการของโรคจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน
- มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย
- บางรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้
- หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะอักเสบและแห้งไปเองใน 2–4 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้
- มีตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น โดยตุ่มมักจะหนาแน่นที่บริเวณใบหน้า และแขนขา มากกว่าที่ร่างกาย
- ภายในตุ่มมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน แสบร้อน
- ตุ่มใสกลายเป็นหนอง เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ตุ่มหนองเหล่านั้นจะแตกออกและแห้งไปเอง
วิธีป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะลิง และสัตว์ฟันแทะ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงจากสัตว์ป่า
- ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสสัตว์ หรือสิ่งของสาธารณะ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์
- ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงมีการแพร่ระบาด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้มีประวัติเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ กรณีที่สัมผัสเชื้อไปแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันในกรณีที่ยังไม่เกิน 14 วัน
- การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
ปัจจุบันมีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกา คือ JYNNEOS วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ แต่จะต้องฉีดในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเท่านั้น และยังสามารถรับวัคซีนได้ภายหลังจากการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน
หากพบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง แนะนำให้แยกผู้ป่วย ป้องกันระบบทางเดินหายใจของผู้ใกล้ชิด และนำส่งสถานพยาบาลที่สามารถแยกกักตัวผู้ป่วยได้
อ้างอิง
- กรมควบคุมโรค เผยโรคฝีดาษลิงติดจากสัตว์สู่คนได้ แม้มีโอกาสติดน้อยแต่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมแนะวิธีการป้องกัน
- โรคฝีดาษลิง หรือ MONKEYPOX โรคระบาดใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม
- โรคฝีดาษลิง พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิต – อาการอย่างไร? ติดต่อทางไหน?
- ทำความรู้จัก: โรคฝีดาษลิง โรคติดต่อจากสัตว์ ที่อาจอันตรายถึงชีวิต
- โรคฝีดาษลิง คืออะไร รุนแรงแค่ไหน