ฟิสิกส์กับบอลลูน

บอลลูนลอยได้อย่างไร

ยานพาหนะที่เคลื่อนที่อยู่บนท้องฟ้า นอกจากเครื่องบินแล้วบอลลูนก็เป็นอีกยานพาหนะที่บ่งบอกว่ามนุษย์เราในสมัยก่อนมีความใฝ่ฝันที่อยากจะบินได้เหมือนนก

จนเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2326 มีการบันทึกการบินด้วยบอลลูนครั้งแรก โดยเกิดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นบอลลูนที่ทำจากกระดาษและผ้าไหม ออกแบบโดยโจเซฟ มงต์กอลฟิเยร์ (Joseph-Michel Montgolfier) และเอเตียน มงต์กอลฟิเยร์ (Jacques-Étienne Montgolfier) สองพี่น้อง นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส เป็นคนสร้างบอลลูนที่ขับเคลื่อนด้วยอากาศร้อน เดินทางที่ความสูง 500 ฟุตในอากาศ เป็นระยะทาง 5 1/2 ไมล์ ใช้เวลา 25 นาทีได้สำเร็จ

โดยที่ส่วนประกอบของบอลลูนและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้บอลลูนลอยได้ ศึกษาได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้

ส่วนประกอบของบอลลูน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
Envelope , Burner และ Gondola

ถุงบอลลูน “Envelope” ทำจากผ้าไนลอนชนิด rip-stop nylon ที่ไม่ฉีกขาดง่าย ถักทอแบบร่างแห ทำให้มีน้ำหนักเบาและเหนียวทนทาน มีการเคลือบภายในด้วยพลาสติกเพื่อช่วยเก็บอากาศร้อน ต่อมาคือส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของบอลลูน เรียกว่า “Burner” เป็นหัวเผาเชื้อเพลิง และส่วนสุดท้ายคือส่วนของตะกร้าโดยสาร เรียกว่า  “Gondola” เป็นส่วนที่บรรทุกถังเชื้อเพลิง ผู้โดยสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ ทำมาจากหวายถักแน่นอย่างแน่นหนาบนแกนเหล็กกล้า มีน้ำหนักเบา และมีความยืดหยุ่น เพื่อรับแรงกระแทกได้ดีและทนทานต่อการแตกหัก

บอลลูนลอยอยู่ในอากาศได้ เพราะอาศัยหลักการของแรงลอยตัวที่เรียกว่า “Principal of buoyancy” ของ อาร์คิมิดิส (Archimedes) นักคณิตศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งหลักการของแรงลอยตัวเป็นกฎฟิสิกส์พื้นฐานสำหรับกลศาสตร์ของไหล ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักและปริมาตรที่ถูกแทนที่ บอลลูนสามารถลอยตัวในอากาศได้ด้วยแรงลอยตัว (buoyancy force) กล่าวคือความหนาแน่นของอากาศภายในบอลลูนน้อยกว่าความหนาแน่นของอากาศภายนอกรอบ ๆ ลูกบอลลูน สามารถทำได้โดยการให้ความร้อนกับอากาศภายในลูกบอลลูน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วอากาศร้อนจะเบากว่าอากาศเย็น เนื่องจากมีมวลต่อหน่วยปริมาตรน้อยกว่าน้ำหนักอากาศหนึ่งลูกบาศก์ฟุตประมาณ 28 กรัม  ทำให้อนุภาคอากาศภายในลูกบอลลูนดูดซับพลังงานความร้อน อนุภาคจึงเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เกิดการชนกันเองและชนกับพื้นผิวภายในลูกบอลลูน ทำให้เกิดแรงดันลอยตัวจำนวนมหาศาลที่จะทำให้ลูกบอลลูนลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ เมื่อแรงลอยตัวมีค่าเท่ากับน้ำหนักของอากาศที่ถูกแทนที่ด้วยลูกบอลลูน บอลลูนก็จะหยุดอยู่ที่ระดับความสูงนั้น ทั้งยังสามารถบังคับทิศทางได้โดยบังคับปล่องที่ปล่อยความร้อนไปตามทิศทางต่างๆนั้นเอง

จากที่กล่าวมาข้างต้นสิ่งที่ทำให้บอลลูนลอยได้นั้น ต้องมีส่วนประกอบที่ทำจากวัสดุที่เหมาะสมในสร้างบอลลูน และอาศัยหลักการของกฎแรงลอยตัว ซึ่งกฎดังกล่าวนั้นเกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ทางด้านฟิสิกส์เรื่องกลศาสตร์ของไหล ทำให้มนุษย์มียานพาหนะที่สามารถเดินทางบนอากาศและยังสามารถพัฒนาไปจนถึงการสร้างอากาศยานที่มีความเร็วเหนือเสียงได้

เอกสารอ้างอิง