
ปัจจุบันความเครียดในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่หลายคนต้องเผชิญ เมื่อต้องจัดการกับความเครียดนั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือที่ชอบ การออกไปท่องเที่ยว แต่มีอีกหนึ่งวิธีที่ผู้คนเลือกที่จะทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด นั่นคือการดูภาพยนตร์ที่ตนเองชอบ เพราะว่าการดูภาพยนตร์นั้นจะช่วยทำให้ร่างกายของเรามีการผ่อนคลาย รู้สึกเหมือนได้พักผ่อน ได้เรียนรู้กับภาพยนตร์ที่ฉายที่จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นอยู่เสมอ แต่รู้หรือไม่ว่าภาพยนตร์ที่เราดูนั้นมีจุดกำเกิดมาจากอะไร สามารถศึกษาได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้
ภาพยนตร์
คือ กระบวนการบันทึกภาพด้วยฟิล์ม แล้วนำมาฉายให้เห็นภาพเคลื่อนไหว ภาพที่ปรากฏบนฟิล์มภาพยนตร์หลังจากผ่านกระบวนการถ่ายทำแล้ว เป็นเพียงภาพนิ่งจำนวนมากที่แสดงอิริยาบถต่างๆ มาเรียงติดกันอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ชมมองเห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหว โดยใช้หลักการที่เรียกว่า “การเห็นภาพติดตา” (Persistence of vision) คิดค้นโดย Dr. John Ayrton Paris และเมื่อนำเอาภาพนิ่งเหล่านั้นมาฉายดูทีละภาพด้วยอัตราความเร็วในการฉายภาพต่อภาพเท่า ๆ กัน สายตามนุษย์จะยังคงรักษาภาพไว้ที่เรติน่าเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1/15 วินาที ถ้าหากภายในระยะเวลาดังกล่าวมีอีกภาพแทรกเข้ามาแทนที่ สมองของเราจะทำการเชื่อมโยงสองภาพเข้าด้วยกัน และจะทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไปเรื่อย ๆ หากภาพต่อไปปรากฏในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ภาพแต่ละภาพเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องในลักษณะของการเคลื่อนไหว เมื่อนำมาเรียงต่อกันในระยะเวลากระชั้นชิด ภาพนิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องกัน
สำหรับเครื่องฉายภาพยนตร์เครื่องแรกของโลกที่เรียกว่า Kinetoscope ได้ถูกออกแบบในปี 1891 โดย William Kennedy Laurie Dickson ซึ่งสามารถชมได้ครั้งละคนเท่านั้น ปัจจุบันความเร็วที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ คือ 24 เฟรม ต่อ 1 วินาที
ดังนั้นภาพยนตร์ที่เรารับชมในทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากภาพนิ่งที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องกันจนทำให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวหรือหลักการภาพติดตา โดยที่หลักการนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญ ทำให้เกิดการคิดค้น สร้าง ปรับปรุง และเกิดการพัฒนามาเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้การรับชมสื่ออย่างภาพยนตร์นั้นเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครผ่านท่าทางการเคลื่อนไหว น้ำเสียง และอื่น ๆ อย่างที่เราได้รับชมจนถึงทุกวันนี้