
ดอกไฮเดรนเยียเป็นดอกไม้ที่คนนิยมนำมาใช้จัดช่อดอกไม้หรือปลูกไว้ที่บ้าน เนื่องจากดอกไม้มีสีสันสวยงามตั้งแต่สีแดง ชมพู ม่วง ฟ้าอมม่วง และจากความหมายของดอกไม้ที่ใช้แทนคำขอบคุณที่คอยอยู่เคียงข้างกันมาตลอด (Thank you for understanding) หรือแทนอีกหนึ่งความหมายที่แสดงถึงความเย็นชา เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่มีต้นกำเนิดในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น และสามารถทนต่ออากาศหนาวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งความพิเศษของดอกไฮเดรนเยียคือ การเปลี่ยนสีของดอกไม้จากระดับความเป็นกรดหรือด่างของดินที่ปลูก ทำให้เราสามารถเห็นต้นไฮเดรนเยียจากดอกสีฟ้ากลายเป็นดอกสีแดงได้ในต้นเดียวกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสายพันธุ์ดอกไฮเดรนเยียที่มีชื่อเรียกว่า Bigleaf Hydrangea หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hydrangea macrophylla (Thunb.) Ser. อยู่ในวงศ์ Hydrangeaceae ลักษณะของดอกเป็นช่อกลมแน่น ออกดอกตามปลายยอด โดยกลีบดอกสีสันสวยงามที่เราเห็นนี้แท้จริงแล้วคือ กลีบเลี้ยงหรือกลีบประดับคล้ายกลีบดอกจำนวน 4-5 กลีบ และยังมีกลีบดอกขนาดเล็กมากจำนวน 4-5 กลีบ อยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยกลีบประดับ

ความพิเศษของสีดอกต้นไฮเดรนเยียนี้ ถูกนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งอินดิเคเตอร์ (indicator) หรือตัวชี้วัดความเป็นกรด-ด่างของดินได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับการเปลี่ยนสีของกระดาษลิตมัสที่ใช้ทดสอบความเป็นกรด-เบสของสาร โดยเมื่อเราจุ่มกระดาษลิตมัสสีน้ำเงินลงในสารทดสอบที่เป็นกรด กระดาษจะเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่ถ้าสารทดสอบเป็นเบส กระดาษลิตมัสสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งคล้ายกับการเปลี่ยนสีดอกไฮเดรนเยียแต่จะเปลี่ยนสีตรงกันข้ามกัน โดยเมื่อดินที่ปลูกมีสภาพเป็นกรดดอกไฮเดรนเยียจะมีสีฟ้า หากดินมีสภาพเป็นเบสดอกไฮเดรนเยียก็จะปรากฏเป็นสีม่วงไปจนถึงสีแดง การเปลี่ยนแปลงของสีดอกนี้เกิดจากสารสีหรือรงควัตถุ (pigment) ที่เรียกว่า delphinidin-3-glucoside เป็นกลุ่มสารแอนโทไซยานินที่ทำให้ใบไม้มีสีแดงในฤดูใบไม้ร่วง และสีของผลเบอร์รี่นั่นเอง
นอกจากสภาวะความเป็นกรดด่างของดินแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยร่วมที่มีผลทำให้เกิดปฏิกิริยาการเปลี่ยนสีดอกนี้ คือ แร่ธาตุอะลูมิเนียมที่อยู่ในดิน โดยในช่วงที่ดินเป็นกรด (pH = 4.5-5.5) การใส่อะลูมิเนียมซัลเฟตลงไปในดินจะทำให้อะลูมิเนียมแตกตัวเป็นอิสระเกิดอะลูมิเนียมไอออน ซึ่งมันสามารถดูดซึมเข้าไปในพืชและจับกับสารสี ทำให้ดอกกลายเป็นสีฟ้า ส่วนในสภาวะที่ดินเป็นเบสหรือการใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูง จะทำให้อะลูมิเนียมตกตะกอนไม่สามารถแตกตัวเป็นอิสระได้ จึงไม่สามารถดูดซึมเข้าในพืช เป็นผลให้ดอกไฮเดรนเยียกลายเป็นสีชมพู
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีที่อยู่ในดินจึงถูกนำมาใช้เพื่อทำให้สีของดอกไฮเดรนเยียเปลี่ยนสีตามที่เราต้องการได้ แต่ก็มีข้อควรระวังคือ การใส่ปุ๋ยหรือปรับกรดในดินให้ต่ำมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อพืช และทำให้ดินเสียสภาพไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้ จึงต้องระมัดระวังและควบคุมปริมาณที่เหมาะสมในการใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีทุกครั้ง เพื่อให้ไม่เป็นอันตรายต่อพืชและสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบได้
อ้างอิง