ปลวก นักย่อยสลายบำรุงดิน

หากเราพูดถึงปลวก หลายๆคนอาจจะมองว่าปลวกเป็นแมลงรบกวนที่สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ แต่ในธรรมชาตินั้นปลวกกลับมีประโยชน์อย่างมากในระบบนิเวศ เนื่องจากทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ช่วยในการบำรุงดิน

การย่อยสลายนั้น ปลวกมีตัวช่วยเป็นจุลินทรีย์ตัวเล็ก ๆ นั่นคือ โปรโตซัว (Protozoa) ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของปลวกซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกันแบบภาวะพึ่งพา (Mutualism)

ปลวกย่อยสลายไม้ได้อย่างไร?

แหล่งอาหารของปลวกเป็นจำพวกเนื้อไม้ เศษไม้ ซากพืช ซึ่งปลวกสามารถกินไม้เหล่านี้ได้ แต่ไม่สามารถย่อยสลายเซลลูโลส (Cellulose) ได้ จึงต้องอาศัยโปรโตซัวที่มีชื่อว่า ไตรโคนิมฟา (Trichonympha sp.) ที่อาศัยอยู่ในลำไส้สร้างเอนไซม์เพื่อช่วยในการย่อยสลายเซลลูโลสให้กลายเป็นอาหารแก่ปลวก ในขณะเดียวกันก็เป็นอาหารให้กับโปรโตซัวเองด้วย

ประโยชน์จากการย่อยสลาย

การย่อยสลายซากพืช เศษไม้ของปลวกในธรรมชาติทำให้เกิดการสลายสารอินทรีย์ เปลี่ยนแปลงไปเป็นฮิวมัส (Humus) เกิดการหมุนเวียนแร่ธาตุในดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชที่จะเป็นแหล่งอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศต่อไป     

ที่มา :