
ต้นไม้ใบด่างกลายมาเป็นต้นไม้ที่ได้รับความนิยมของหลายๆ คนที่ชื่นชอบพันธุ์ไม้ที่มีสีสันแปลกตาหาได้ยาก ไม่เหมือนต้นไม้ที่มีสีเขียวทั่วๆ ไป ด้วยลักษณะที่แตกต่างนี้ ทำให้ไม้ด่างมีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของนักสะสมต้นไม้เป็นจำนวนมาก แต่ทราบหรือไม่ว่าจริงๆ แล้วไม้ด่างนั้นเกิดจากการปรับตัวให้อยู่รอดได้ในธรรมชาติ โดยลักษณะการด่างสามารถช่วยพรางตัวจากผู้ล่าหรือสัตว์กินพืช ทำให้ผู้ล่าเข้าใจว่าพืชนั่นมีพิษ อีกทั้งยังสามารถช่วยดึงดูดแมลงให้ช่วยผสมพันธุ์อีกด้วย บางกรณีที่ต้นไม้นั้นต้องเจริญเติบโตอยู่ในป่าทึบที่มีแสงแดดน้อย การปรับตัวเพื่อลดการสังเคราะห์แสงหรือลดการสร้างคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ซึ่งเป็นสารสี (Pigments) ที่ใช้ในการดูดซับแสง ทำให้เห็นใบด่างมีสีขาวหรือเหลือง ซึ่งก็คือบริเวณที่ไม่มีการสร้างคลอโรฟิลล์ตรงบริเวณนั้นนั่นเอง
นอกจากการด่างที่ทำให้ใบเกิดสีขาวแล้ว ยังมีต้นไม้ด่างหลากสีสันจากสารสีอื่น ๆ เช่น แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ทำให้เห็นใบเป็นสีเหลืองหรือส้ม และแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ทำให้มองเห็นใบมีสีชมพู แดง และม่วง ซึ่งรูปแบบของสีใบที่เกิดขึ้นกับใบด่างแต่ละชนิดขึ้นกับข้อมูลของสารพันธุกรรม โดยมียีนเฉพาะที่ควบคุมลักษณะเหล่านี้ถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกให้เกิดพืชใบด่างได้
ส่วนลักษณะด่างที่เห็นเป็นสีเงิน ไม่ได้เกิดจากสารสีของพืช แต่เกิดจากลักษณะโครงสร้างของใบที่มีช่องอากาศระหว่างเนื้อเยื่อใบ ทำให้เมื่อแสงแดดตกกระทบบนใบจะเกิดการหักเหมองเห็นใบเป็นสีเงินเป็นลักษณะที่มีการถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม เรียกลักษณะด่างแบบนี้ว่า Reflective variegation หรือ Blister variegation ตัวอย่างต้นเปปเปอร์โรเมียลายแตงโม (Watermelon peperomia) และต้นพลูแนบอุรา(Scindapsus pictus)
อีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดใบด่างที่ทำให้พืชจากเดิมทีมีสีเขียวกลายเป็นพืชใบด่างได้ จากความผิดปกติในระดับพันธุกรรม ที่เป็นการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติในเนื้อเยื่อเจริญของพืช ซึ่งก็คือเนื้อเยื่อบริเวณยอดของพืชที่มีการแบ่งเซลล์เพื่อการเจริญเติบโต เมื่อมีการแบ่งตัวซ้ำ ๆ จึงทำให้ง่ายที่จะเกิดการกลายพันธุ์ เรียกลักษณะการด่างแบบนี้ว่า ไคเมอรา (Chimera) ทำให้พืชต้นเดียวกันมีบางเนื้อเยื่อสามารถสร้างคลอโรฟิลล์ ขณะที่บางเนื้อเยื่อไม่มีการสร้างคลอโรฟิลล์ จึงเห็นใบบนต้นเดียวกันมีสีขาวหรือเหลืองผสมกับสีเขียวที่แต่ละใบมีรูปแบบและลวดลายไม่เหมือนกัน ตัวอย่างต้นมอนสเตอร่า (Monstera Deliciosa) ลักษณะการเกิดใบด่างแบบนี้ อาจไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะลวดลายด่างที่ต้องการจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก และสามารถเปลี่ยนกลับเป็นสีเขียวทั้งต้นได้ การจะเลี้ยงต้นไม้ที่เกิดจากสาเหตุการด่างประเภทนี้ จึงต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่าปกติ เนื่องจากต้นไม้ใบด่างมีปริมาณคลอโรฟิลล์น้อยกว่าต้นไม้สีเขียวปกติ ส่งผลให้ต้นไม้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้า
และอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดใบด่างในธรรมชาติ คือ การติดเชื้อไวรัสในเนื้อเยื่อพืช โดยเฉพาะ Mosaic virus ที่พบได้มากที่สุด ทำให้พืชเกิดโรคใบด่างหรือใบมีสีเขียวที่ไม่สม่ำเสมอ อาจมีอาการใบหงิกงอ หรือลำต้นเจริญเติบโตผิดปกติ การติดเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่ไปยังพืชต้นอื่น ๆ หรือจากการขยายพันธุ์พืช ต้นไม้ที่มีการด่างแบบนี้ไม่คงตัว สามารถกลับมาเป็นปกติได้
นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว ยังสามารถเกิดใบด่างได้จากเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยการใช้สารเคมีหรือใช้สารกำมันตภาพรังสี ที่ทำให้พืชเกิดการกลายพันธุ์ได้ลักษณะตามที่เราต้องการและสร้างความหลากหลายของพืชได้มากขึ้น
อ้างอิง
- ทำอย่างไรถึงเกิดต้นไม้ใบด่าง? พร้อมวิธีการปลูกดูแล รวมถึงขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้
- today’s special เสวนาสุดพิเศษ เรื่อง ทำไมไม้ถึงด่าง
- Variegated Indoor Plants: The Science Behind the Latest Houseplant Trend
- A look inside those variegated plants
- Science: How plants with patterned leaves compete
- A variegated leaf with green and yellow paths is used for an experiment to prove that chlorophyll is required for photosynthesis.