
อย่างที่เข้าใจกันว่าอาหารเสริมช่วยเรื่องการเสริมสารอาหารบางอย่างให้กับร่างกาย นอกเหนือจากการกินอาหารตามปกติ ซึ่งในธรรมชาติสัตว์ป่าก็ต้องการสารอาหารที่จะเสริมร่างกายเช่นกัน โดยสารอาหารอย่างแร่ธาตุก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิต เพราะแร่ธาตุบางชนิดนั้นช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและรักษาสมดุลต่อร่างกาย ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตใช้ชีวิตได้เป็นปกติ แล้วสัตว์ตามธรรมชาติสามารถหาแร่ธาตุเสริมได้อย่างไร
โป่ง คือ บริเวณพื้นที่ที่มีการสะสมของแร่ธาตุจากการชะล้างตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่นั้นมีปริมาณแร่ธาตุสูง โดยแบ่งโป่งตามลักษณะ คือ โป่งดินที่มีลักษณะเป็นดินเค็มละเอียดหรือมีลักษณะเหมือนโคลน มักจะอยู่บริเวณตามตลิ่ง บริเวณที่ราบ อีกประเภทคือ โป่งน้ำมีลักษณะเป็นที่ที่น้ำไหลหรือซึมผ่านหินปูน แร่ธาตุถูกละลาย ทำให้น้ำมีแร่ธาตุผสมอยู่ด้วย ภายในโป่งมีแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น โซเดียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลายอย่างตามแต่ละชนิดของแร่ธาตุนั้น ๆ
จากการศึกษาพฤติกรรมสัตว์ที่มาใช้ประโยชน์ของโป่ง ในหลาย ๆ งานวิจัย พบว่ามีความเป็นไปได้อย่างหนึ่งที่สัตว์ต้องการสารอาหารให้ครบ โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ และสัตว์อื่น ๆ ที่กินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากโป่ง เนื่องจากการกินอาหารเข้าไปไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรืออาจจะกินไปมากแค่ไหนร่างกายก็ยังขาดแร่ธาตุอยู่ดี เพราะอาหารที่สัตว์กินนั้นไม่มีแร่ธาตุหรือมีน้อย จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมโป่งถึงเป็นเหมือนอาหารเสริมให้กับสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร ยกตัวอย่างการศึกษาในกลุ่มสัตว์เท้ากีบมีพฤติกรรมการใช้โป่งเพื่อต้องการแร่ธาตุที่ขาด ตัวอย่าง ธาตุโซเดียม (sodium) ที่ช่วยให้ร่างกายรักษาสมดุลของกรดและด่าง ช่วยรักษาสมดุลของระบบประสาท และส่งเสริมการเจริญเติบโต
นอกจากการใช้โป่งเพื่อเป็นแหล่งเสริมแร่ธาตุของสัตว์แล้ว ยังมีการค้นพบเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากโป่งของสัตว์หลายชนิดแตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ของสัตว์แต่ละชนิด อย่างเช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอย่างค้างคาวที่กินผลไม้และใบไม้เป็นจำนวนมาก พบว่าค้างคาวได้เข้ามาใช้โป่งในช่วงกำลังตั้งท้องหรือช่วงที่ให้น้ำนม เนื่องจากพืชที่มันกินเข้าไปมีสารที่เป็นพิษทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เพื่อถ่วงสมดุลของร่างกายค้างคาวจึงกินโป่งเพื่อลดระดับของพิษในร่างกาย (detoxification) และป้องกันลูกมีความผิดปกติทางร่างกายหรือพิการ เช่นเดียวกับ ช้าง นก ลิงและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ก็มีการใช้ประโยชน์เหมือนกับค้างคาวดังที่กล่าวมาข้างต้น
จากการศึกษาต่าง ๆ โป่งจึงมีบทบาทที่สำคัญต่อสัตว์กินพืช การทำโป่งเทียมขึ้นมาเพื่อเพิ่มแหล่งอาหารเสริมหรือทดแทนโป่งร้างที่ไม่มีการเข้ามาใช้ของสัตว์ ในสภาพความเป็นจริงโป่งในธรรมชาติมีสภาพดินที่ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้การใช้โป่งมีความแตกต่าง ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแร่ธาตุที่มีอยู่ในโป่งและชนิดสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้โป่ง ถึงแม้การทำโป่งเทียมจะเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งก็ตาม ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมที่ผิดปกติโผล่ขึ้นมา สัตว์เหล่านี้ก็คงต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่ถ้าหากพบว่าโป่งนั้นแทบไม่มีร่องรอยการเข้ามาใช้ประโยชน์จากสัตว์เลย การทำโป่งเทียมนั้นก็อาจจะสูญเปล่าและสูญเสียพื้นที่ป่าไปอย่างน่าเสียดาย เพราะฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาวางแผนล่วงหน้าและวางขอบเขตในการทำโป่งเทียม เพื่อให้โป่งเทียมเกิดประโยชน์มากที่สุด
แหล่งอ้างอิง