
บนโลกของเรามีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่มีดวงดาวอยู่เต็มผืนทราย เหล่าสะเก็ดดาวเม็ดเล็กๆ ที่เคยอยู่ในท้องทะเลถูกซัดไปตามเกลียวคลื่นจนกระจัดกระจายขึ้นมาอยู่บนชายฝั่ง แล้วเหตุใดดวงดาวที่ควรอยู่บนท้องฟ้ากลับลงมาให้เราพบเจอได้ที่หาดทรายกันล่ะ
เมื่อไปถึงเกาะทาเกะโทมิ ประเทศญี่ปุ่น เราจะได้พบชายหาดที่มีชื่อว่า หาดทรายรูปดาว โดยชื่อนี้ไม่ได้หมายถึงรูปร่างของชายหาด แต่หมายถึงทรายเม็ดเล็ก ๆ ของที่แห่งนั้นต่างหาก เมื่อลองมองดูดี ๆ เราจะพบว่าเม็ดทรายในบริเวณหาดนี้ไม่ได้มีรูปทรงเป็นวงกลมหรือวงรีเหมือนกันทั้งหมด แต่บางเม็ดกลับมีแฉกหนามมากมายยื่นออกมาทำให้ดูคล้ายรูปทรงของดวงดาว และไม่ใช่แค่รูปร่างที่แตกต่างกับทรายทั่วไป แต่รวมไปถึงองค์ประกอบเองก็ไม่เหมือนกันด้วย
เม็ดทรายรูปดาวเหล่านี้แท้จริงแล้วไม่ใช่ก้อนหิน แต่พวกมันเคยเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตมาก่อน กล่าวคือพวกมันเป็นโครงสร้างแข็งภายนอก (Exoskeleton) หรือก็คือเปลือกที่ใช้ห่อหุ้มร่างกายของโปรโทซัว Baculogypsina sphaerulata ที่จัดอยู่ในกลุ่ม Foraminifera มีขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 1.5×35 มิลลิเมตร ตัวเปลือกสร้างขึ้นจากแคลเซียมคาร์บอเนตหรือหินปูน (Calcium carbonate : CaCO3) ซึ่งต่างจากเม็ดทรายที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นซิลิกา (Silica : SiO2) บริเวณพื้นผิวของเปลือกมีรูพรุนมากมายซึ่งจะเป็นช่องผ่านของเท้าเทียม (Pseudopodia) ที่ช่วยให้โปรโทซัวสามารถเคลื่อนที ยึดเกาะบนพื้นทราย ใช้จับกับวัตถุใต้ทะเล และใช้ในการล่าเหยื่อ
โดยพวกมันสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าตัวมันเอง โปรโทซัวชนิดนี้ส่วนมากอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นท้องน้ำ (Benthic zone) และตามแนวปะการังในมหาสมุทรแปซิฟิกของเอเชียตะวันออก เมื่อตัวโปรโทซัวตายไป เปลือกของพวกมันจะยังคงอยู่และถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่ง ทำให้ซากเปลือกหินปูนเหล่านี้ปะปนอยู่กับทรายบนชายหาดนั่นเอง
Foraminifera ยังมีอีกหลากหลายสายพันธุ์ และมีรูปร่างที่แตกต่างกันไป แต่พวกมันทั้งหมดกลับมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศในมหาสมุทรทั้งในเรื่องของห่วงโซ่อาหาร และการเป็นแหล่งผลิตหินปูนในท้องทะเล แม้ว่าเมื่อถึงเวลาที่พวกมันตายไป แต่ก็ยังเหลือไว้ซึ่งโครงเปลือกอันงดงามและมีคุณค่าต่อธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมความแปลกใหม่ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้อีกด้วย
แหล่งที่มา