กว่าจะมาเป็นผ้าอนามัยในปัจจุบัน

เมื่อถึงวันนั้นของเดือน เหล่าสุภาพสตรีต่างทราบกันดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของตน และเริ่มมองหาตัวช่วยในการป้องกันไม่ให้เลือดประจำเดือนไหลเลอะเปรอะเปื้อนไปตามเสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันนั้น สิ่งที่เป็นที่นิยมมากที่สุดนั่นคือ ผ้าอนามัย ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ตามความชื่นชอบ เช่น ผ้าอนามัยแบบแผ่น ผ้าอนามัยแบบสอด หรือผ้าอนามัยแบบสวมใส่เหมือนกางเกงชั้นใน เป็นต้น แต่กว่าจะมาเป็นผ้าอนามัยที่ใช้ได้อย่างสะดวกสบายเฉกเช่นทุกวันนี้ ทราบหรือไม่ว่าผู้หญิงในสมัยก่อนเขาจัดการกับปัญหานี้กันอย่างไร

ประจำเดือน หรือ รอบเดือน เกิดจากการเจริญของเยื่อบุผนังมดลูกชั้นใน (Endometrium) จนผนังมดลูกมีความหนามากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสืบพันธุ์ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ เยื่อบุผนังมดลูกชั้นในจะหลุดลอกออกมาและกลายเป็นประจำเดือนในที่สุด โดยการเป็นประจำเดือนจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเพศหญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่อายุประมาณ 11-50 ปี เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของผู้หญิง ซึ่งมาพร้อมกับความยากลำบากในการดูแลหรือรักษาความสะอาด และในแต่ละยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่เท่ากัน เครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันการไหลของประจำเดือนก็ย่อมแตกต่างกันออกไป

ในสมัยก่อนแต่ละประเทศยังไม่สามารถติดต่อสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้มากนัก ทำให้เทคโนโลยีและวัฒนธรรมยังมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้วิธีการจัดการกับประจำเดือนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันออกไป ส่วนมากจะเป็นการใช้วัสดุที่หาได้ตามธรรมชาติ เช่น การใช้ผ้าหรือกระดาษที่อ่อนนุ่ม เยื่อไม้ สำลี หรือแม้แต่ขนสัตว์ วางเป็นแผ่น ๆ ซ้อนกันจนหนาพอที่จะซึมซับประจำเดือนได้ นำมาลอดผ่านระหว่างขาแล้วใช้เชือกหรือเข็มขัดผูกคาดไว้กับช่วงเอว

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการคิดค้นผ้าที่สามารถใช้ซับเลือดของทหารในสงคราม จึงมีการนำแนวคิดนี้มาดัดแปลงใช้กับผ้าอนามัยในสมัยนั้น เกิดเป็นผ้าอนามัยแบบห่วง ที่ใช้ผ้าในการดูดซับประจำเดือน แต่ยังคงต้องใช้เข็มขัดคาดไว้กับเอว บางยี่ห้อสามารถซักและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แต่บางยี่ห้อเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ทำให้ผู้ใช้ส่วนมากมักเป็นสตรีที่มีฐานะเสียมากกว่า

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ผ้าอนามัยถูกพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนวัสดุในการสร้าง เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน เช่น การใช้เส้นใยสำลี ใยฝ้าย และสารที่มีความสามารถในการดูดซึมน้ำได้ นำมาแทนการใช้กระดาษหรือผ้าเพื่อใช้ซับประจำเดือน การทำผ้าอนามัยเป็นแถบกาวหรือแผ่นแปะ แทนการใช้เข็มขัดคาดเอว เพิ่มความคล่องตัวในระหว่างที่สวมใส่ รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่เป็นแผ่นซึมซับ กลายมาเป็นแบบแท่งขนาดเล็กสำหรับสอดใส่ในช่องคลอด เรียกว่า ผ้าอนามัยแบบสอด (Tampons) ซึ่งสามารถดูดซับประจำเดือนได้โดยไม่เปื้อนร่างกายภายนอก

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ประเภทซึมซับของเหลว แต่ก็สามารถช่วยป้องกันการไหลของประจำเดือนได้ เช่น ถ้วยอนามัย (Menstrual cup) โดยลักษณะการใช้จะเป็นการสอดเข้าไปในช่องคลอดคล้ายกับผ้าอนามัยแบบสอด แต่ใช้ในการรองรับเลือดประจำเดือนแทนการดูดซับ การใช้ถ้วยอนามัยจะไม่ก่อให้เกิดการอับชื้นและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ อีกทั้งยังสามารถทำความสะอาด ก่อนนำมาใช้ซ้ำในครั้งถัดไป สามารถใช้ซ้ำได้นานประมาณ 5-10 ปี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและการสร้างขยะได้อีกด้วย ทำให้ถ้วยอนามัยเริ่มเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

การเลือกใช้ผ้าอนามัยหรืออุปกรณ์รองรับประจำเดือนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไม่ดูแลรักษาความสะอาด หมั่นตรวจเช็คปริมาณประจำเดือน หรือคอยเปลี่ยนตามความเหมาะสม อาจทำให้กลายเป็นจุดที่เกิดการสะสมของแบคทีเรียและเชื้อโรค นำมาสู่การติดเชื้อหรือก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศได้ ดังนั้นต้องดูแลให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้นั้นสะอาด ถูกสุขอนามัย ทั้งก่อนและหลังใช้งาน เพื่อป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคบริเวณจุดซ่อนเร้นของคุณสุภาพสตรี

ที่มา