ตัวตนที่แท้จริงของเวโลซีแรปเตอร์

เหล่าผู้คลั่งไคล้ไดโนเสาร์เตรียมตัวกันให้พร้อม เพราะกลางปี พ.ศ. 2565 นี้มีภาพยนตร์ไตรภาคชื่อดังที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับไดโนเสาร์อย่าง Jurassic World : Dominion พร้อมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งดำเนินเรื่องราวโดยพระเอกหนุ่มอย่าง โอเวน กราดี้ (รับบทโดย คริส แพร็ตต์) ที่ต้องปฏิบัติภารกิจภายในโลกที่มีบรรดาไดโนเสาร์หลุดออกมาใช้ชีวิตปะปนอยู่ในสังคมปัจจุบัน และนอกจากตัวละครนำที่เป็นมนุษย์แล้ว ยังมีไดโนเสาร์อีกหลากหลายสายพันธุ์ที่ได้ปรากฏตัวในหนังให้เราได้รู้จักกันอีกด้วย

หนึ่งในดาวเด่นของไตรภาคนี้คงหนีไม่พ้นเจ้า เวโลซีแรปเตอร์ ที่มีแถบข้างลำตัวสีฟ้าอย่าง ‘บลู’ ซึ่งกลายเป็นไดโนเสาร์ขวัญใจผู้คนจนขึ้นมาเทียบเคียงกับความดังของทีเร็กซ์ เจ้าแห่งไดโนเสาร์ได้เลยทีเดียว แต่เชื่อว่ามีหลายคนอาจยังไม่รู้ว่ารูปร่างลักษณะและพฤติกรรมที่แท้จริงของเจ้าเวโลซีแรปเตอร์นอกจอภาพยนตร์นั้นเป็นแบบไหน และมีความแตกต่างจากในหนังที่เราดูอย่างไร

ในโลกภาพยนตร์บลูเป็นเวโลซีแรปเตอร์ (Velociraptor) ไดโนเสาร์กินเนื้อในกลุ่มโดรมีโอซอร์ (Dromaeosaur) หรือแรปเตอร์ (Raptor) ที่เดินด้วย 2 เท้า ความสูงประมาณมนุษย์วัยผู้ใหญ่ และมีผิวหนังคล้ายกับสัตว์เลื้อยคลานเหมือนไดโนเสาร์ทั่วไป แถมมันยังมีความเฉลียวฉลาด และเป็นจ่าฝูงของเหล่าแรปเตอร์ร่วมคอกอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบและตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับเวโลซีแรปเตอร์ในโลกจริงอยู่มากเลยทีเดียว

แหล่งค้นพบ

ในภาพยนตร์เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ความจริงแล้วเวโลซีแรปเตอร์ถูกค้นพบว่าพวกมันอาศัยอยู่ในทวีปเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก ในช่วงปลายยุคครีเทเชียส

ลักษณะภายนอก

เหล่าเวโลซีแรปเตอร์ที่เราเห็นจะมีผิวหนังคล้ายกับสัตว์เลื้อยคลานและไม่มีขน แต่นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่า แท้จริงแล้วตามลำตัวของพวกมันอาจมีเส้นขนที่คล้ายกับขนนก (feather) ปกคลุมอยู่ เนื่องจากมีการค้นพบว่ากระดูกบางส่วนของเวโลซีแรปเตอร์มีตุ่มที่ติดก้านขน (quill knobs) ซึ่งคล้ายกับกระดูกของปีกนก

ขนาดร่างกาย

ขนาดลำตัวของเวโลซีแรปเตอร์แท้จริงแล้วพวกมันตัวใหญ่ประมาณไก่งวงหนึ่งตัวเท่านั้น โดยมีความสูงประมาณ 2 ฟุต (0.6 เมตร) และความยาวลำตัวประมาณ 6 ฟุต (1.8 เมตร)

พฤติกรรมการรวมฝูง

ถึงแม้ว่าบลูจะดูเป็นจ่าฝูงที่สามารถควบคุมสมาชิกแรปเตอร์ตัวอื่นๆ ได้ แต่เมื่อนักบรรพชีวินวิทยาตรวจสอบฟอสซิลของเวโลซีแรปเตอร์แล้ว พวกเขากลับวิเคราะห์ว่าพวกมันอาจไม่ได้อยู่รวมกันเป็นฝูงหรืออาจมีการล่าเหยื่อเพียงตัวเดียวมากกว่า เนื่องจากเหยื่อของเวโลซีแรปเตอร์เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งจะแตกต่างจากแรปเตอร์บางสายพันธุ์ เช่น แรปเตอร์สายพันธุ์ที่ถูกค้นพบในทวีปอเมริกาเหนืออย่างไดโนนีคัส (Deinonychus) ที่มักล่าเหยื่อขนาดใหญ่ จึงต้องทำงานกันเป็นทีม

เมื่อได้ลองศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเวโลซีแรปเตอร์แล้วเราจะค้นพบว่าพวกมันมีความแตกต่างไปจากภาพจำของเราโดนสิ้นเชิง เนื่องจากบทในภาพยนตร์ที่เราเคยดูกัน แต่การดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับเรื่องราวและการสร้างดีไซน์ให้เกิดภาพจำจนเป็นจุดขาย ถือเป็นเรื่องทั่วไปในวงการบันเทิงเพื่อให้ได้อรรถรสในการชมภาพยนตร์

อีกทั้งข้อมูลเกี่ยวกับไดโนเสาร์ล้วนเป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาซากฟอสซิลที่มีอายุหลายล้านปี ทำให้องค์ความรู้หลายอย่างยังเป็นเพียงการคาดการณ์หรือการตั้งสมมติฐานของนักบรรพชีวินวิทยาตามหลักฐานที่ค้นพบ แต่เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้นตามยุคสมัยก็อาจส่งผลให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้ถูกพิสูจน์บางเรื่องเป็นไปตามสมมติฐานหรือบางเรื่องก็อาจถูกแก้ไขใหม่ให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น ดังนั้นพวกเราจึงต้องหมั่นอัปเดตข้อมูลอยู่เสมอเพราะไม่แน่ว่าในอนาคตข้างหน้าเจ้าเวโลซีแรปเตอร์ที่เรารู้จักอาจมีหน้าตาไม่เหมือนเดิมอีกก็เป็นได้

ที่มา