
สิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ในห้วงมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ คนมักจะนึกถึงกลุ่มสัตว์ขนาดมหึมา เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอย่างกลุ่มของวาฬ หรือไม่ก็ปลาฉลาม แต่ในทะเลไม่ได้มีแค่กลุ่มวาฬกับปลาฉลามเท่านั้นที่ตัวใหญ่ ยังมีสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งเป็นปลากระดูกอ่อนเช่นเดียวกันกับปลาฉลาม มีร่างกายที่แบน และว่ายน้ำเหมือนกำลังบินบนอากาศ สัตว์น้ำชนิดนี้ถูกเรียกว่าปลากระเบนแมนตานั่นเอง ซึ่งก็เป็นปลาขนาดใหญ่ที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่ง มาทำความรู้จักกับปลาชนิดนี้ไปด้วยกัน
ยักษ์ใหญ่ของเรามีชื่อเต็มว่า ปลากระเบนแมนตาแนวปะการัง (Reef manta ray) และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mobula alfredi จัดอยู่ในกลุ่มของปลากระเบนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาปลากระเบนทั้งหมด ความกว้างโดยเฉลี่ยของมันอยู่ที่ 300-350 เซนติเมตร แต่ตัวที่เคยสำรวจแล้วพบว่ากว้างมากที่สุดกว้างถึง 400 เซนติเมตร รูปร่างเหมือนสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หางแหลมยาว มักกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารในบริเวณแนวปะการังและทะเลลึก โดยกินแบบกรองเหมือนวาฬ คือ การเคลื่อนน้ำผ่านอวัยวะที่กรองแพลงก์ตอนในน้ำเหมือนเครื่องกรองน้ำ
อย่างไรก็ตามปลาชนิดนี้ตัวไม่ได้ใหญ่อย่างเดียว แต่สมองก็มีขนาดใหญ่ตามตัวเช่นกัน ทำให้ปลากระเบนแมนตานี้สามารถเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมได้ เมื่อเห็นตัวเองในกระจกจะเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในกระจกคือตัวเอง (Self-directed) เหมือนกับลิงชิมแปนซีหรือนก และสมองที่มีขนาดใหญ่ก็ยังช่วยจดจำได้มากกว่าปลาชนิดอื่น ๆ จึงสามารถรู้สถานที่ในการหาอาหาร เป็นเหตุผลว่าทำไมปลากระเบนแมนตาแนวปะการังจึงสามารถว่ายไปและกลับจากแนวปะการังเดิมได้ โดยตอนกลางวันจะอยู่ตามแนวปะการัง ส่วนตอนกลางคืนหาแพลงก์ตอนในทะเลลึก
จากพฤติกรรมการหาอาหารที่ได้ศึกษาล่าสุด พบว่าหลังจากปลากระเบนแมนตาแนวปะการังได้หาอาหารในทะเลลึกแล้วจะว่ายขึ้นมาในแนวปะการังเพื่อทำความสะอาดตัว เช่น การกำจัดปรสิต และถ่ายของเสีย อันประกอบไปด้วยสารต่างๆ ที่ช่วยเสริมความแข็งแรงและการเจริญเติบโตให้กับปะการัง มันจึงช่วยให้เกิดวัฏจักรของสารอาหารระหว่างระบบนิเวศแนวปะการังกับระบบนิเวศในทะเลลึก เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวยังไม่มีการศึกษาที่มากพอ
นอกจากนั้นปลากระเบนแมนตาแนวปะการังยังถูกจัดเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) และจำนวนประชากรของมันก็ยังคงลดลงจากภัยคุกคามอย่างการประมงเกินขนาด การจับปลาพลอยได้ รวมไปถึงการล่าเพื่อนำส่วนใดส่วนหนึ่งไปทำเป็นอาหาร จึงทำให้ความหลากหลายลดลง จนในที่สุดปลากระเบนแมนตาชนิดนี้อาจหายไปจากแนวปะการัง
ที่มา
- MANTA RAY ECOLOGY AND BIOLOGY
- Reef manta rays may promote the growth of coral reefs in Seychelles
- Diving Behavior of the Reef Manta Ray Links Coral Reefs with Adjacent Deep Pelagic Habitats
- Encephalization and Brain Organization of Mobulid Rays (Myliobatiformes, Elasmobranchii) with Ecological Perspectives
- Reef Manta Ray