ใบหน้าเปล่งประกายด้วยไมกา

เครื่องสำอางเสริมความงามหลากหลายชนิด มักถูกเสริมเติมด้วยคุณสมบัติเด่นมากมายลงในเครื่องสำอางเพื่อสร้างให้เกิดเป็นแรงจูงใจสำหรับการเลือกซื้อไปใช้โดยคุณสมบัติเด่นหนึ่งที่ได้รับความนิยม นั่นคือ ประกายระยิบระยับประดับใบหน้าประกายนี้คืออะไร

ประกายที่พบในเครื่องสำอางเสริมความงามเหล่านี้ คือ แร่ในกลุ่มไมกา (Mica) หรือแร่กลีบหิน ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะแร่ไมกาเพียง 2 ชนิด คือ แร่มัสโคไวต์ (Muscovite) และแร่เซริไซต์ (Sericite) เท่านั้น

แร่มัสโคไวต์ (Muscovite) มีส่วนประกอบทางเคมี คือ KAI2(AlSi3O10)(OH)2 มีความแข็งประมาณ 2 – 2.5 ตามโมห์สเกล ความวาวแบบแก้วถึงแบบใยไหมหรือแบบมุก ปกติมีสีขาวใสถึงไม่มีสี มักพบแร่ในลักษณะเป็นแผ่นบางซ้อนกันจนหนา รูปหกเหลี่ยม แนวแตกเรียบสมบูรณ์ สามารถลอกแร่ออกเป็นแผ่น ๆ ได้ อีกทั้งแผ่นแร่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถโค้งงอแล้วกลับคืนรูปเดิมได้      

แร่มัสโคไวต์เป็นแร่ประกอบหินที่สำคัญ หากเป็นหินอัคนีมักพบในหินเพกมาไทต์ และหินแกรนิต แต่สามารถพบในหินแปร เช่น หินชีสต์ ได้เช่นกัน ซึ่งแร่มัสโคไวต์ในหินชีสต์บางชนิดจะมีลักษณะเป็นเส้นใย ซึ่งเกิดจากการแปรเปลี่ยนสภาพของส่วนประกอบทางเคมีบางชนิดในแร่ จึงเรียกแร่มัสโคไวต์ที่แปรสภาพนี้ว่า แร่เซริไซต์

แร่ไมกาใช้ประโยชน์ในการผลิตเครื่องมือสำคัญหลากหลายชนิด เช่น หากเป็นไมกาแผ่น จะใช้ทำแผ่นกรองแสงของอุปกรณ์ทางตา ผนังกันความร้อนในเตาเผา ใช้ทำเครื่องปรับกระแสไฟฟ้า วัสดุกันไฟในหลอดสุญญากาศ เป็นต้น แต่หากเป็นไมกาบดจะใช้ประโยชน์ในการเสริมคุณภาพของแผ่นยิปซัม และใช้ในอุตสาหกรรมสีช่วยเพิ่มเม็ดสีและเพิ่มแรงยึดเหนี่ยว เป็นต้น

แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากจะใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเหล่านี้แล้ว ด้วยคุณสมบัติการสะท้อนแสงและการหักเหแสง แร่ไมกาจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมความงามโดยผสมในเครื่องสำอางเพื่อเพิ่มความกระจ่างใสให้ใบหน้าเรียบเนียน สีสันเครื่องสำอางติดทนนานและยังสร้างความโดดเด่นด้วยประกายวาววับแบบชิมเมอร์อีกด้วย

แร่ไมกา เป็นแร่ธรรมชาติที่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยแหล่งแร่ไมกาขนาดใหญ่อยู่ที่ประเทศอินเดีย ส่วนในประเทศไทยพบแร่ไมกาที่ จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงพบทั่วไปในแหล่งหินเพกมาไทต์ และหากพิจารณาทรายที่เห็นทั่วไป จะพบว่าประกายวาววับที่เห็นนั้น คือ แร่ไมกา นั่นเอง

อ้างอิง