เส้นเหลืองแห่งความปลอดภัย

ปัจจุบันนี้การโดยสารด้วยรถไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่เร่งรีบของคนเมืองหลวงแล้ว เพราะการใช้บริการสะดวก เดินทางได้รวดเร็ว เส้นทางครอบคลุมเกือบทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร และที่สำคัญไม่ต้องพบเจอกับปัญหารถติด ซึ่งรถไฟฟ้าที่ให้บริการนั้นมีทั้งแบบรถไฟลอยฟ้าที่แล่นบนรางเหนือถนนปกติ และรถไฟฟ้าใต้ดินที่แล่นอยู่ภายในอุโมงค์ใต้ดิน แต่ว่าเราเคยสังเกตที่ชานชาลารถไฟฟ้าทั้งสองประเภทนี้หรือไม่ว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เส้นเหลือง

เส้นเหลืองบนชานชาลานับเป็นเส้นแบ่งความปลอดภัยของผู้โดยสาร จะวางแนวติดกับพื้นที่ที่รถไฟฟ้าแล่นเข้าสู่สถานี ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คน อยู่บริเวณด้านหัวและท้ายขบวน คอยควบคุมไม่ให้เราเข้าไปในเส้นเหลือง หากเราเผลอเหยียบหรือล้ำเข้าไป เสียงนกหวีดจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะดังขึ้นเตือนทันที เราต้องรีบถอยห่างออกมาอยู่หลังเส้นเหลืองเท่านั้น

เหตุที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องเตือนเรานั้น เพื่อความปลอดภัยของเราเอง เพราะเมื่อขบวนรถไฟฟ้าวิ่งผ่านมา อากาศระหว่างขบวนรถกับบริเวณที่เรายืนอยู่จะเคลื่อนที่เร็ว ทำให้มีความดันอากาศต่ำ อากาศรอบ ๆ จะเคลื่อนที่เข้าไปแทนที่ ซึ่งการเคลื่อนที่ของอากาศนี้สามารถดูดเราให้ตกยังรางรถไฟฟ้าได้

การไหลของอากาศในลักษณะนี้เป็นเช่นเดียวกับลูกเทนนิสที่เคลื่อนที่แหวกผ่านอากาศ ซึ่งจะมีอากาศจำนวนหนึ่งห่อหุ้มลูกเทนนิสไว้ และมีแรงดึงดูดของอากาศอยู่ด้านข้าง ดูดให้เข้าหาลูกเทนนิสนั่นเอง 

ดังนั้น ทุกคนคงเข้าใจแล้วว่าทำไมต้องอยู่หลังเส้นเหลือง อย่าลืมอยู่หลังเส้นเหลือง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของตัวเอง

เรียบเรียง
ณัฐวุฒิ  พุ่มดอกไม้

ภาพประกอบ
พัทธนันท์ ประดิษฐ์นันกุล

อ้างอิง
ข้อปฏิบัติและข้อห้ามเมื่ออยู่ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส
รปภ. เก่งฟิสิกส์