
ไวรัส คืออะไร
ไวรัส (Virus) คือ อนุภาคขนาดเล็กมาก (20-300 นาโนเมตร) จนสามารถหลุดรอดผ่านเครื่องกรองที่ใช้กรองแบคทีเรียได้ เราสามารถมองเห็นไวรัสโดยผ่านทางกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเท่านั้น ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าหรือกล้องจุลทรรศน์ธรรมดาได้ ไวรัสเปรียบเหมือนเป็นกาฝากที่อยู่ในร่างของสิ่งมีชีวิตอื่น (obligate intracellular parasite) เนื่องจากไม่สามารถเติบโตหรือแพร่พันธุ์นอกเซลล์อื่นได้ เพราะตัวไวรัสนั้นมีโครงสร้างแบบง่ายๆ ประกอบด้วยสารพันธุกรรมเพียงแค่หนึ่งชนิด อาจเป็น DNA หรือ RNA ก็ได้ห่อหุ้มด้วยเปลือกโปรตีนที่เรียกว่าแคปซิด ไม่มีเมตาโบลิซึมที่เป็นกระบวนการทางเคมีที่ทำให้ร่างกายสิ่งมีชีวิตทำงานได้ปกติ อีกทั้งยังไม่มีโครงสร้างย่อยขนาดเล็กที่มีหน้าที่เฉพาะที่เรียกว่าออร์แกเนลล์เป็นของตัวเอง จึงจำเป็นต้องอาศัยการทำงานจากเซลล์โฮสต์หรือเซลล์เจ้าบ้านที่ไวรัสเข้าไปฝังตัว ดังนั้นถ้าไวรัสแพร่กระจายอยู่ในอากาศแต่บริเวณนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย ไวรัสก็จะไม่สามารถเติบโตและแพร่พันธุ์ได้นั่นเอง
ไวรัสติดใครได้บ้าง
ไวรัสสามารถเข้าไปฝังตัวได้ทั้งในพืช สัตว์ และมนุษย์ตามชนิดและสายพันธุ์ของไวรัสนั้นๆ โดยในปี 2429 ได้ค้นพบไวรัสชนิดแรกคือไวรัสทีเอ็มวี (TMV : tobacco mosaic virus) ที่ก่อให้เกิดโรคใบยาสูบด่างในพืชหลายชนิด เมื่อปี 2561 ประเทศจีนพบการระบาดเป็นวงกว้างของไวรัส ASF หรือ African swine fever virus ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แต่ไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสที่ไม่ติดต่อจากสัตว์ไปสู่มนุษย์และไวรัสที่เราคุ้นหูกันดีเช่นไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์และโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก จะเห็นว่าโดยปกติไวรัสจะไม่มีการติดต่อข้ามสายพันธุ์ ยกเว้นไวรัสนั้นจะเกิดการกลายพันธุ์ เช่น ไวรัสเอเวียนอินฟลูเอนซา (Avian Influenza virus) สายพันธุ์ H3N2 ที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกพัฒนาสายพันธุ์เป็น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สุนัข (Canine influenza A virus subtype H3N8) รวมถึงไวรัสโคโรนาที่ปกติเป็นไวรัสก่อโรคในสัตว์ แต่เมื่อกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ก็สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้ นักวิทยาศาสตร์เรียกการการกลายพันธุ์นี้ว่า human coronaviruses หรือ HCoVs
ไวรัสทำอะไรบ้าง
ไวรัสสามารถควบคุมกลไกของเซลล์โฮสต์ให้ทำการสร้างส่วนประกอบของไวรัสใหม่ได้ ดังนั้นการติดเชื้อไวรัสสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนเซลล์โฮสต์ เช่น ทำให้เซลล์ตาย, มีการรวมตัวของเซลล์ หรือทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ (transformation) กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
ป้องกันไวรัส ห่างไกลโรคระบาด
- ไวรัสแต่ละชนิดมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ดังนั้นนักวิทยศาสตร์จะทำการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสเพื่อนำไปสู่การรับมือและผลิตวัคซีนในการป้องกันไวรัส
- โดยปกติแล้วไวรัสจะถูกทำลายด้วยความร้อนเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงหรือแสงอัลตราไวโอเลต (UV) ในช่วง 100 – 400 นาโมเมตร
- การใช้สารเคมีที่มีคุณสมบัติละลายไขมันในหรือทำให้โปรตีนและสารพันธุกรรมของไวรัสเสียสภาพไป เช่น คลอรีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น
อ้างอิง
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK554776/
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7122971/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11570281/
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=312
https://www.prachachat.net/general/news-566387
https://www.who.int/thailand/health-topics/coronavirus
https://www.medicalnewstoday.com/articles/256521