
“คำถามต่อสรวงสวรรค์” ภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีนโดยยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1)
องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ตั้งชื่อภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีนนี้ใช้ชื่อว่า “เทียนเวิ่น-1” (Tianwen-1) มีความหมายว่า “คำถามต่อสรวงสวรรค์” ตั้งตามบทกวีซึ่งประพันธ์โดย “ชวี เยหวียน” (Qu Yuan) องค์การอวกาศแห่งชาติจีนระบุว่าชื่อนี้แสดงถึงความมุมานะของจีนในการแสวงหาความจริงและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการสำรวจธรรมชาติและจักรวาลตามเนื้อหาในบทกวี
ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยจรวดลองมาร์ช-5 (Long March-5) ณ ฐานปล่อยจรวดเหวินชาง เกาะไห่หนานและเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลา 19:52 น. ตามเวลาประเทศไทย ตามหลังยานโฮปของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปติด ๆ เป็นเริ่มต้นก้าวแรกสู่การสำรวจดาวอังคารของประเทศจีน ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 จะแยกส่วนยานเพื่อลงจอดบริเวณที่ราบต่ำยูโทเปีย (Utopia Planitia) บนดาวอังคาร ส่วนที่แยกออกไป ประกอบด้วยยานลงจอด (Lander) และรถสำรวจ (Rover) ที่จะทำหน้าที่ศึกษาพื้นผิวดาวอังคารที่ตำแหน่งต่าง ๆ มีอายุภารกิจประมาณ 90 วัน ในขณะที่ส่วนยานโคจร (Orbiter) จะยังโคจรรอบดาวอังคารต่อไปเพื่อศึกษาพื้นผิวจากมุมสูงศึกษาชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของดาวอังคาร และมีอายุภารกิจประมาณ 1 ปี
อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนยานอวกาศเทียนเวิ่น-1
ในส่วนของยานโคจร (Orbiter)
- กล้องถ่ายภาพความละเอียดปานกลาง Medium Resolution Camera (MRC) ครอบคลุมความละเอียดสัมพัทธ์ที่ระดับ 100 เมตร จากความสูง 400 กิโลเมตรบนวงโคจร
- กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง High Resolution Camera (HRC) ครอบคลุมความละเอียดสัมพัทธ์ที่ 2 เมตร จากความสูง 400 กิโลเมตรบนวงโคจร
- เครื่องวัดค่าสนามแม่เหล็ก Mars Magnetometer (MM)
- สเปกโตรมิเตอร์เพื่อใช้ระบุชนิดของธาตุ Mars Mineralogy Spectrometer (MMS)
- เรดาร์ตรวจสอบใต้ผิวดิน Orbiter Subsurface Radar (OSR)
- เครื่องวิเคราะห์ไอออนและอนุภาคที่เป็นกลาง Mars Ion and Neutral Particle Analyzer (MINPA)
- เครื่องวิเคราะห์อนุภาคพลังงานสูง Mars Energetic Particle Analyzer
ในส่วนของรถสำรวจ (Rover)
- เรดาร์ใต้ดิน Ground-Penetrating Radar (GPR) เพื่อสร้างภาพทางธรณีวิทยาในระดับความลึกถึง 100 เมตรจากผิวดาว
- เครื่องวัดค่าสนามแม่เหล็กบนพื้นผิวดาว Mars Surface Magnetic Field Detector (MSMFD)
- เครื่องวัดค่าทางอุตุนิยมวิทยา Mars Meteorological Measurement Instrument (MMMI)
- เครื่องตรวจแยกสารประกอบบนผิวดิน Mars Surface Compound Detector (MSCD)
- กล้องถ่ายภาพสำหรับใช้ถ่ายภาพที่ความยาวคลื่นต่าง ๆ Multi-Spectrum Camera (MSC)
- กล้องสำหรับการนำร่องและถ่ายภาพภูมิประเทศ Navigation and Topography Camera (NTC)
ภารกิจของยานอวกาศเทียนเวิ่น-1
- ภารกิจหลักคือ ตรวจหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร รวมถึงค้นหาว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในอดีตหรือไม่ สำรวจและศึกษาสภาพแวดล้อมต่าง ๆ บนดาวอังคาร
- ประการที่สองตรวจสอบชั้นบรรยากาศ ภูมิทัศน์ ลักษณะทางธรณีวิทยา ตรวจวัดแรงโน้มถ่วงและสนามแม่เหล็ก
- ประการสุดท้ายเพื่อช่วยตอบคำถามว่าดาวอังคารเหมาะสมที่จะเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับมนุษยชาติหรือไม่ ?
ในขณะนี้ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 กำลังโคจรรอบดาวอังคาร จากนั้นจะแยกส่วนยานลงจอด (Lander) ที่บรรทุกรถสำรวจ (Rover) เพื่อสำรวจภาคพื้นดิน ในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน พ.ศ. 2564 ส่วนยานโคจร (Orbitor) ก็จะโคจรรอบดาวอังคารเพื่อศึกษาชั้นบรรยากาศต่อไป…
อ้างอิง
Tech Breakdown: Five facts about China’s first Mars mission Tianwen-1 : https://news.cgtn.com/news/2020-07-23/Five-facts-about-China-s-first-Mars-mission-Tianwen-1-Sl013Dw2je/index.html
Tianwen-1, (2564) : https://en.wikipedia.org/wiki/Tianwen-1