แสงแดดภัยร้ายใกล้ตัวคุณ

ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนที่มีอากาศร้อนมากโดยเฉพาะในหน้าร้อน แล้วอย่างนี้เราจําเป็นจะต้องใส่เสื้อแขนยาว กางร่ม หลบแดด หรือทาครีมกันแดดหรือไม่ แล้วถ้าเราอยู่ในร่มยังจําเป็นต้องทาครีมกันแดดไหม แล้วถ้าเราไม่ทาครีมกันแดด หรือหลบแดดจะมีผลเสียอะไรหรือไม่บทความนี้มีคําตอบไปอ่านกันเลย

แสงแดดคืออะไร

แสงแดดประกอบด้วยรังสีและแสงหลายชนิด ที่แตกต่างกันตามความยาวคลื่น โดยแบ่งเป็น

  • แสงอินฟราเรด (Infrared) หรือแสงที่ให้ความร้อน มีปริมาณ 50% ของแสงแดดทั้งหมด และมีพลังงานต่ำกว่าแสงที่ให้ความสว่าง ดังนั้นจึงมีพลังงานต่ำที่สุด โดย Infrared A เป็นคลื่นแสงที่ทําให้เกิดผิวแก่ก่อนวัย (Photoaging) ย่อยสลายคอลลาเจน (Collagen breakdown) และเกิดรอยเหี่ยวย่นของผิวหนัง เพราะสามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระได้ แต่ต้องใช้ปริมาณสูงมาก
  • แสงที่มองเห็น (Visible light) มีปริมาณ 45% ของแสงแดดทั้งหมด มีพลังงานต่ำ แต่ถ้าได้รับเป็นเวลานานก็ทําให้ผิวคล้ำเสีย กระตุ้นให้ฝ้าเข้มขึ้น หรือผิวเสื่อมจากแดดได้ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ
  • แสงที่มองไม่เห็น (Invisible Light) มีปริมาณ 5% ของแสงแดดทั้งหมด มีพลังงานสูง และเป็นสาเหตุสําคัญของผิวไหม้แดง ผิวคล้ำมะเร็งผิวหนัง และผิวชราจากแดด เช่น อัลตราไวโอเลต (Ultraviolet light ;UV) หรือรังสียูวีมีด้วยกัน 3 รูปแบบ ดังนี้
    • UVA คือ แสงช่วงความยาวคลื่น 320–400 นาโนเมตร มีอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน สามารถทะลุผ่านกระจกและหน้าต่างได้ ในขณะที่ UVB ไม่ผ่าน เป็นรังสีที่กระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานิน ทําให้ผิวเป็นสีน้ำตาลในระยะสั้น และผ่านลงลึกไปในผิวชั้นล่าง (ชั้นหนังแท้) ก่อให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร ภูมิแพ้แสงอาทิตย์ ผิวไวต่อแดด การกดภูมิคุ้มกัน ตาและจอประสาทตาเกิดความเสียหาย และเกิดการก่อตัวของอนุมูลอิสระส่งผลกระทบทางอ้อมต่อดีเอ็นเอ การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังบางชนิดได้
    • UVB คือ แสงในช่วงความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตรรังสีมีความผันผวนตลอดทั้งวัน โดยจะเข้มสูงสุดในช่วง 10.00-16.00 น. เป็นรังสีที่จําเป็นต่อการผลิตวิตามินดี แต่ผลเสียคือทําให้ ผิวไหม้แดด (Sunburn) กระตุ้นการผลิตเมลานินใหม่ที่มีสีน้ำตาลดํา ติดทนนาน และเป็นสาเหตุสําคัญของการเสียหายของดีเอ็นเอ โรคมะเร็งผิวหนัง ตาและจอประสาทตาเกิดความเสียหาย
    • UVC คือ แสงในช่วงความยาวคลื่น 180-290 นาโมเมตร ถูกบล็อกโดยชั้นบรรยากาศของโลก ดังนั้นจึงไม่สามารถซึมผ่านเข้ามาก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้แต่ถ้าหากหลุดรอดผ่านมาโดนผิวของเราก็จะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน

รับวิตามินจากแดดตอนไหนดี

การสัมผัสแดดโดยไม่ทาครีมกันแดดเพียง 2-3 วัน/สัปดาห์วันละประมาณ 5-15 นาทีก็ทําให้ร่างกายได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามปริมาณการรับแดดของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามลักษณะสีของผิวหนังโดยผู้ที่มีผิวหนังสีอ่อนจะมีความไวต่อแสงแดดมากกว่าผู้ที่มีผิวหนังสีเข้ม

วิธีปกป้องผิวจากแสงแดด

  1. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00–16.00 น. เพราะเป็นช่วงที่รังสียูวีสูงที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อผิวหนังและสุขภาพ
  2. พยายามหลบแสงแดดให้มากที่สุด เท่าที่จะทําได้ ในทุกที่ ทุกเวลา โดยสวมหมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เมื่อต้องเจอแสงแดด หรือทํากิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้งและสวมเสื้อผ้าปิดมิดชิด โดยทั่วไปเสื้อผ้าเนื้อแน่น สีเข้ม และหนาจะกันแดดได้มากกว่าเสื้อผ้าเนื้อบาง ๆ
  3. อ่านฉลากยาที่ใช้อยู่อย่างละเอียดรอบคอบเพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทําให้ผิวไวต่อแดด และรับรังสี UV ได้มากกว่าปกติ ซึ่งอาจทําให้ผิวไหม้หลังสัมผัสแดดเพียงไม่กี่นาที
  4. ทาครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB ที่มีค่า SPF 30 และ PA+++ ขึ้นไปเป็นประจําทุกวัน โดยทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 15-30 นาที และต้องทาซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือทาซ้ำทุกครั้งที่โดนน้ำ และควรทาครีมกันแดดแม้วันที่ไม่โดนแดด โดยใช้ปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตรของผิวหนังทั่วไป ถ้าเป็นที่ใบหน้าและคอให้ใช้ครีมกันแดดประมาณ 2 ช้อนชา หรือประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ

SPF (Sun Protective Factor) คือ ค่าความสามารถในการป้องกันการไหม้แดงจากรังสียูวีบี (UVB) ระบุค่าความสามารถเป็นตัวเลข PA (Protection grade of UVA) คือ ค่าความสามารถในการปกป้องผิวหมองคล้ำจากรังสียูวีเอ (UVA) ระบุค่าความสามารถเป็นจํานวนเครื่องหมายบวก (+)

อ้างอิง

https://bit.ly/3xDeACb
https://bit.ly/3k9btxN
https://bit.ly/3i2Nf5K
https://bit.ly/3yNNQPK