Blockchain คืออะไร?

ในบทความก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึง Cryptocurrency ซึ่งใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการจัดเก็บ และยืนยันการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในวันนี้เราจะมาพูดถึง Blockchain ว่ามันคืออะไรกัน

Blockchain เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาและสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโลกเป็นอย่างมาก มันถูกสร้างขึ้นในปี 2008 โดยคนที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เราก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า Satoshi Nakamoto เป็นใครและปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่

เทคโนโลยี Blockchain หากอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ลองนึกภาพว่ามันเป็นเสมือนโซ่ที่สร้างขึ้นเพื่อกระจายข้อมูลเก็บไว้ในชิ้นส่วนโซ่ที่ต่อกัน ข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้เรียกได้ว่า Blockchain โดยเริ่มแรกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) เช่น Bitcoin อย่างไรก็ตามในตอนนี้เทคโนโลยี Blockchain ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับสกุลเงินดิจิทัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ณ ปัจจุบันวงการอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้นำศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจของตนอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลที่อยู่บน Blockchain ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และฐานข้อมูลของ Blockchain ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในที่ใดที่หนึ่งเพียงแห่งเดียว หมายความว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกบน Blockchain จะถูกเปิดเผยเป็นสาธารณะและสามารถถูกเข้ามาตรวจสอบได้ ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีส่วนกลางเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมและปกป้อง ดังนั้นแฮ็กเกอร์จะไม่สามารถเข้ามาแฮ็กข้อมูลนี้ได้เนื่องจากไม่มีจุดศูนย์กลางให้โจมตี นั่นหมายความว่าหากพวกเขาต้องการแฮ็กเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้น พวกเขาต้องโจมตีฐานข้อมูลที่ถูกกระจายออกไปทั้งหมดในเวลาพร้อมกัน ซึ่งเป็นไปได้ยากมากถ้าเครือข่ายนั้น ๆ ใหญ่มากพอ

จากความโปร่งใสและความปลอดภัยของข้อมูล และการเพิ่มประสิทธิภาพโดยการลดคนกลาง ปัจจุบัน Blockchain จึงได้ถูกนำมาใช้ในหลาย ๆ รูปแบบในหลายอุตสาหกรรม ไม่จำกัดเพียงแค่เงินดิจิตอลเพียงอย่างเดียว

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ – ในหลายๆ ประเทศ เช่น สาธารณรัฐมอลตา ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการนำ Blockchain มาเก็บข้อมูลแทนโฉนด (Land Registry) หรือการนำ Blockchain มาช่วยในการแบ่งการเป็นเจ้าของ (Asset Tokenization)

ธุรกิจโรงพยาบาล – โครงการ Medrec ของทาง MIT หรือ SimplyVital นำ Blockchain มาเก็บข้อมูลการรักษาของคนไข้ เพิ่มความโปร่งใส และความปลอดภัย ซึ่งใน เมืองไทยก็จะมีโครงการ Block M.D. ของบริษัท Smart Contract Thailand ที่ทำเรื่องนี้ หรือ FarmaTrust การนำ Blockchain มาช่วยตรวจสอบที่มาของยาแต่ละชนิดป้องกันการปลอมแปลง

ธุรกิจค้าปลีก – Walmart ได้มีโครงการนำข้อมูลอาหารที่ขายมาเก็บเพื่อดูสายการผลิตจากโรงงานมาถึงชั้นวางของหรือ Singapore Airline ก็ได้นำ Blockchain มาใช้บน loyalty point KrisFlyer เพิ่มความน่าเชื่อถือและสามารแลกเปลี่ยนกันได้

ธุรกิจพลังงาน – Power Ledger ธุรกิจ Startup จากออสเตรเลียก็ได้ขยายมาที่เมืองไทยเพื่อพัฒนาการซื้อขายพลังงานแบบ Peer to peer โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain หรือ WePower บริษัทจาก Estonia ก็ทำเรื่องคล้าย ๆ กันแต่เน้นไปทางพลังงานทดแทนเป็นหลัก

ธุรกิจการศึกษา – MIT Media Lab และสาธารณรัฐมอลตา ได้มีการออกปริญญาบัตร Certificate และ
Transcript บนเทคโนโลยี Blockchain เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ Blockchain ในอีกหลายเรื่อง เช่น การจดสิทธิบัตร การท่า E-voting การตรวจสอบ การทำดิจิทัลไอดีแทนบัตรประชาชน ซึ่งการใช้งานเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนสำหรับการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพว่า Blockchain ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจะค่อย ๆ เข้ามาในชีวิตของเรามากขึ้น

อ้างอิง

https://1th.me/g4d16
https://1th.me/pucDs