ขยะอาหาร (Food waste)…กองขยะที่ถูกซ่อนไว้

เมื่อเทคโนโลยีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมกำลังทำลายความสมดุลของสิ่งแวดล้อม และสร้างขยะอย่างมหาศาลที่กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่นอกจากปัญหาขยะพลาสติกที่ใช้เวลานานหลายปีในการย่อยสลายแล้ว ยังมีขยะอีกกองหนึ่ง ที่เป็นปัญหาสำคัญแต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นหรือมองข้ามปัญหานั่นไป เพราะยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการเทอาหารในจานทิ้งลงถังขยะ

จากสถานการณ์ปัญหาขยะอาหารเริ่มกลายเป็นประเด็นใหญ่ทั่วโลก ที่ทุกประเทศกำลังร่วมมือกันในการลดการสร้างขยะจากอาหาร เพราะแท้จริงแล้วอาหารที่ผลิตออกมา เพียงพอสำหรับคนทั้งโลก แต่ไม่สามารถส่งไปถึงมือผู้ที่ต้องการหรือขาดแคลนอาหารได้ อาหารส่วนเกินเหล่านี้จึงเกิดการเน่าเสียและถูกทิ้ง สร้างมลพิษที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างแก๊สเรือนกระจก อย่างเช่น แก๊สมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์

ในขณะที่ประเทศไทยก็พบปัญหานี้เช่นกัน โดยขยะอาหารคิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมด จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งขยะส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย เนื่องจากการแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง การจัดการขยะที่ใช้การฝังกลบรวม และไม่มีระบบจัดการที่ถูกสุขาภิบาล

ขยะอาหารเกิดจากอาหารที่เหลือจากการบริโภคทั้งในครัวเรือน อาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในร้านค้าปลีก อาหารบุฟเฟ่ต์และอาหารที่ใช้เพื่อปรุงแต่งจานในร้านอาหารหรือโรงแรม  ขยะที่สร้างขึ้นในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม จากกระบวนการผลิตที่มีวัตถุดิบเหลือใช้ และการจัดเก็บวัตถุดิบที่ไม่ดีทำให้เกิดการเน่าเสีย

ปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรเริ่มมีมาตรการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะอาหาร โดยร้านค้าปลีกช่วยลดขยะอาหารที่ขายไม่หมดต่อวัน และอาหารที่ใกล้หมดอายุ ด้วยการลดราคา และมอบให้ผู้ยากไร้ในชุมชนทาน ซึ่งช่วยลดขยะและลดงบประมาณที่ใช้ในการจัดการ ในภาคอุตสาหกรรมมีการนำเศษวัตถุดิบเหลือใช้ไปรีไซเคิลเป็นปุ๋ย, แก๊สชีวภาพ (Biogas) และสกัดสารอาหารที่ยังคงมีประโยชน์ เพื่อลดปริมาณขยะและทำให้ขยะเป็นศูนย์ (Zero waste) ส่วนผู้บริโภคก็มีวิธีการง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้ คือ

  1. วางแผนการซื้ออาหารไม่ซื้อมากเกินความจำเป็น
  2. การปรุงอาหาร ควรทำในปริมาณที่สามารถทานได้หมด ไม่เหลือทิ้ง หรือสร้างสรรค์เมนูที่สามารถนำอาหารที่เหลือ และใกล้เสียมาบริโภคให้หมด
  3. อาหารที่ซื้อมาเกินความต้องการ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ควรหาวิธีเก็บรักษาไว้ได้นาน เพื่อลดการเน่าเสีย
  4. แยกขยะอาหารออกจากขยะอื่น แล้วนำไปทำปุ๋ยให้กับต้นไม้
  5. อาหารแห้ง และอาหารกระป๋องที่ฉลากอาหารระบุวัน “ควรบริโภคก่อน” (Best Before หรือ BB/BBE) เป็นอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ เนื่องจากความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารเสีย แต่จริง ๆ แล้วเป็นวันที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีสภาพสด และคุณภาพดีเยี่ยมก่อนวันที่ระบุไว้ ทำให้หลายคนทิ้งอาหารที่สามารถบริโภคได้ก่อนที่มันจะเสียจริง

ดังนั้น ถ้าทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเกินความจำเป็น และผู้ผลิตช่วยลดความสูญเสียอาหารที่เกิดจากกระบวนการผลิต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเกิดขยะอาหาร ก็สามารถช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้

อ้างอิง

https://bit.ly/2Vq3lPx
https://bit.ly/3yvyQ9i
https://bit.ly/2Vv6UUz
https://bit.ly/3fzdgt3
https://bit.ly/3lyI5BY
https://bit.ly/3lwmutS
https://bit.ly/3AcAeOx