
ใครเคยเป็นแบบนี้บ้าง ? อาการอึดอัดคล้ายมีบางสิ่งบางอย่างกดทับทำให้ร่างกายขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ มักจะเกิดขึ้นตอนนอนหลับ พอรู้สึกตัวอีกทีก็ขยับไม่ได้เสียแล้ว ถ้าเล่าให้คนอื่นฟังคงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณโดนผีอำแน่นอน!!!
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความว่า ผีอำ คืออาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอนเคลิ้มไปว่ามีคนปลุกปล้ำหรือยึดคร่าให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น อาการผีอำ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนไทยเท่านั้น แต่เป็นกันทั่วโลก ถึงขนาดที่มีรายการเกี่ยวกับประสบการณ์การโดนผีอำ “Aproject on sleep paralysis” และ “The nightmare” ใครสนใจก็ไปหาดูกันได้ แต่ในรายการไม่ได้อธิบายอาการผีอำในเชิงวิทยาศาสตร์มากนัก ดังนั้น ในบทความนี้จะอธิบายอาการผีอำในทางวิทยาศาสตร์และวิธีป้องกันการเกิดอาการผีอำ
แท้ที่จริงแล้วอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากภูตผีปีศาจ แต่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายเวลานอน ทางการแพทย์เรียกอาการผีอำว่า Sleep Paralysis ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกตัว แต่ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ได้ อาการนี้เกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น คนที่เกิดอาการแบบนี้จะรู้สึกอึดอัด อึกอัก พูดไม่ได้ไปชั่วขณะ สังเกตว่าเราแทบไม่เคยเจอคนถูกผีอำขณะยังตื่นหรือมีสติเลย
ผีอำนั้นแบ่งเป็นสองแบบคือ เกิดขึ้นในช่วงใกล้หลับ หรือเกิดขึ้นในช่วงใกล้ตื่น หากเป็นผีอำช่วงใกล้หลับ เราเรียกว่า Predormital Sleep Paralysis ในช่วงเวลานั้นร่างกายจะอยู่ในภาวะผ่อนคลาย เมื่อผีอำเกิดขึ้นในช่วงนี้ เรามักจะไม่ค่อยรู้ตัว อาจจะมีอาการเพียงรับรู้ว่าขยับตัวไม่ได้ พูดไม่ได้เท่านั้น
ผีอำช่วงใกล้ตื่น เราจะเรียกว่า Postdormital Sleep Paralysis 75% ของผีอำมักจะเกิดในช่วงนี้ เรามักจะสะดุ้งตื่น รู้สึกตัวในขณะที่ช่วงหลับฝันยังไม่สิ้นสุดลง มักจะเกิดอาการแน่นหน้าอก อึดอัด ร่วมกับการขยับร่างกายไม่ได้ พูดไม่ได้ อาการผีอำส่วนมากมักจะอยู่ไม่นานเกินกว่า 5-10 นาที
ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่ามีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดภาวะผีอำ สาเหตุที่พบบ่อย ๆ ได้แก่
- นอนหลับไม่ดี นอนหลับไม่พอ หรือนอนไม่หลับ พอร่างกายอยู่ในภาวะนี้นานเข้าก็อาจเกิดมีผีอำขึ้นมาได้
- อาชีพที่เวลาการนอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเสมอ เช่น แอร์โฮสเตส ยาม พยาบาล แพทย์ ที่เปลี่ยนช่วงเวลาทำงาน ต้องอยู่เวรดึกสลับกับเวรเช้า
- ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด หรือผู้ป่วยสภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
- การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น, ยานอนหลับ, ใช้สารเสพติด ฯลฯ
การดูแลตัวเองในเบื้องต้น หากคุณเกิดผีอำบ่อย ๆ เราขอแนะนำให้พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เลี่ยงการนอนหงาย เพราะท่านอนหงายเป็นท่าที่ทำให้เกิดผีอำได้บ่อยกว่านอนตะแคง นอกจากนี้การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนผสมก่อนนอนก็ช่วยได้ดีเช่นเดียวกัน
อาการผีอำอาจจะเป็นอะไรที่น่ากลัว แต่ถ้าเราได้ทราบหลักวิทยาศาสตร์ของอาการนี้แล้วก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป