เมลาโทนิน กินได้นอนหลับดีจริงหรือ

ปัจจุบันด้วยภาวะโรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ ส่งผลให้คนมีความเครียดจนก่อเกิดอาการนอนไม่หลับ หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ พักผ่อนไม่เพียงพอ จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต บางคนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังไม่สามารถช่วยให้นอนหลับได้จึงเลือกที่จะใช้ตัวช่วยโดยการรับประทานยาหรือฮอร์โมนทดแทนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหานอนไม่หลับ ฮอร์โมนนั้นคือเมลาโทนิน

เมลาโทนินคืออะไรนะ ?

เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่สังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) ที่ต่อมไพเนียล (pineal gland) ในสมอง โดยมีความมืดเป็นตัวกระตุ้นให้หลั่งเมลาโทนินเข้าสู่กระแสเลือดและจะหยุดหลั่งเมื่อเจอแสงสว่าง โดยร่างกายจะเริ่มหลั่งเมลาโทนินออกมาตั้งแต่ช่วงที่พระอาทิตย์ตกดินทำให้คนเรารู้สึกง่วงและระดับฮอร์โมนเมลาโทนินจะคงอยู่ในกระแสเลือดประมาณ 10 – 60 พิโคกรัมต่อมิลลิตร (pg/mL) ติดต่อกัน 12 ชั่วโมง ก่อนที่ระดับฮอร์โมนเมลาโทนินจะลดลงตอนเช้า จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 9.00 น. ระดับเมลาโทนินในร่างกายจะลดต่ำลงจนวัดระดับไม่ได้

เมลาโทนินเหมาะกับใคร ?

เนื่องจากเมลาโทนินมีคุณสมบัติเป็นตัวช่วยในการคงการหลับ (maintain sleep) ซึ่งจะทำให้ง่วงหรือหลับเร็วจึงเหมาะกับกลุ่มคนดังต่อไปนี้

  1. บุคคลที่มีอาการนอนหลับผิดเวลา หรือ delayed sleep phase syndrome ซึ่งเป็นความผิดปกติด้านการนอนหลับ คือไม่สามารถนอนหลับได้ก่อนเวลา 2.00 น. และมักมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า
  2. บุคคลที่เป็นโรคนอนไม่หลับ (insomnia)
  3. บุคคลที่มีปริมาณเมลาโมนินต่ำเกินไปเนื่องจากเกิดภาวะเจ็ทแลค (jet lag) หรือทำงานเป็นกะ (shift work)
  4. ผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะผลิตเมลาโทนินได้น้อยลง ส่งผลให้เวลานอนของผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยแล้วลดน้อยลงและประสบกับปัญหานอนไม่หลับบ่อยครั้ง เมลาโทนินจึงช่วยเพิ่มคุณภาพในการนอนหลับ และระยะเวลาในการนอนหลับที่ดีมากขึ้น

เมลาโทนินสูงเกินไปก็ไม่ดีนะ

ในประเทศเขตหนาวหรือในฤดูหนาวที่มีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่ากลางคืนจะทำให้ร่างกายมีระดับปริมาณเมลาโทนินในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย อยากนอนตลอดเวลา นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเราเรียกว่าภาวะเหล่านั้นว่าภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดู หรือภาวะ S.A.D (Seasonal Affective Depression) สามารถป้องกันภาวะ S.A.D ได้โดยการรับแสงแดดหรือรักษาด้วยแสงบำบัดเพื่อลดระดับปริมาณเมลาโทนินให้เป็นปกติ

รับประทานได้แต่ต้องระวัง !

เนื่องจากเมลาโทนินเป็นฮอร์โมน ไม่ใช่ยาหรืออาหารเสริม ดังนั้นจะต้องใช้ในขนาดที่ถูกต้อง ถูกเวลา และถูกระยะเวลา หากต้องการรับประทานเมลาโทนินเป็นตัวช่วยในการนอนหลับควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน อีกทั้งการรับประทานอาหารเสริมเมลาโทนินอาจจะมีผลข้างเคียง เช่น ไปลดการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินตามธรรมชาติ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาหารเสริมเมลาโทนินอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) ยาคุมกำเนิด ยาลดภูมิคุ้มกัน  (immunosuppressants) เป็นต้น

อ้างอิง

https://bit.ly/3B3rgDL
https://bit.ly/2UCVBcC
https://bit.ly/38504rN