กลิ่นไอดิน เมื่อยามฝนตก เกิดจากอะไร

เมื่อฤดูฝนมาเยือน บรรยากาศของฝนตกหรือหลังฝนตกนั้น เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงนึกถึงบรรยากาศของความสดชื่น และได้กลิ่นที่คุ้นเคย เช่น กลิ่นไอดินที่ออกมาจากผิวดิน ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและสดชื่นกลิ่นไอดิน คือ อะไร

กลิ่นไอดินที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาฝนตกนั้นในทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า เพทริเคอร์ (Petrichor) ซึ่งกลิ่นนี้ไม่ได้เกิดจากดินกับน้ำฝน แต่เกิดจากจุลินทรีย์ที่ชื่อว่า สเตรปโตมัยซีส (Streptomyces) ผลิตสารชนิดหนึ่ง เรียกว่า จีโอสมิน (Geosmin) จุลินทรีย์ชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มแอคติโนมัยซีส (Actinomycetes) เป็นแบคทีเรียที่พบมากในดิน มีลักษณะรูปร่างเป็นเส้นใย โดยเส้นใยมีทั้งส่วนที่เจริญไปในแหล่งอาหารและชูขึ้นไปในอากาศ สืบพันธุ์โดยการใช้สปอร์ ในระบบนิเวศจะทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ เพื่อเป็นธาตุหมุนเวียนให้กับพืชและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในดิน

เมื่อแบคทีเรียชนิดนี้ตายลงจะสร้างสารจีโอสมิน (Geosmin) ขึ้นมา ในขณะที่ฝนตกลงมากระทบกับพื้นดิน จะเกิดการฟุ้งกระจายของสปอร์ของแบคทีเรียและลอยขึ้นไปในอากาศ พร้อมกับโมเลกุลของจีโฮสมิน จึงทำให้เราสัมผัสกลิ่นนี้ได้ นอกจากแบคทีเรียชนิดนี้แล้ว สารจีโอสมินยังพบในพืชบางชนิดที่จะผลิตออกมาในขณะที่ดินไม่มีน้ำหรือแห้งแล้งเพื่อชะลอการงอกของเมล็ดพืช ซึ่งเมื่อฝนตกก็จะผสมไปพร้อม ๆ กับสารจีโอสมินที่แบคทีเรียสร้างนั่นเอง หลังฝนตกทำไมเราจึงเห็นแมลงและสัตว์ต่าง ๆ ออกมาจากดินมากมาย

กลิ่นไอดินมีประโยชน์อย่างไรต่อธรรมชาติ

กลิ่นไอดินที่เราได้สัมผัสนั้น นอกจากมนุษย์ที่ได้กลิ่นนี้แล้ว ในธรรมชาติยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่มีความไวต่อกลิ่นนี้ นั่นคือ สัตว์จำพวกขาปล้อง เช่น มด ตะขาบ กิ้งกือ จะออกมากินซากแบคทีเรียชนิดนี้ที่ตายแล้ว จึงทำให้สปอร์ติดไปกับขาของสัตว์ เมื่อสัตว์เหล่านี้ไปยังที่ต่าง ๆ จะทำให้สปอร์ของแบคทีเรียกระจายไปยังแหล่งอื่น ๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นวิธีการแพร่ขยายพันธุ์ของแบคทีเรียชนิดนี้

ดังนั้นกลิ่นไอดินที่เราได้สัมผัสนี้คงไม่ใช่กลิ่นไอธรรมดา ๆ แต่เป็นกลิ่นไอที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของแบคทีเรียและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในดิน ช่วยกันสร้างสารอาหาร การย่อยสลายให้เกิดการหมุนเวียนแร่ธาตุในดินที่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศต่อไป

อ้างอิง

https://bit.ly/3hyS0EF
https://bit.ly/33PO6jw
https://bit.ly/3ol6OJf
https://bit.ly/3Af8jhc
https://bit.ly/3Ccuh55