
หากกล่าวถึงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษหรือ exotic pets คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษสามารถจำแนกได้หลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง กลุ่มสัตว์ปีก กลุ่มปลาแปลก และกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม นอกจากกลุ่มที่กล่าวมาแล้วนี้แล้วยังสามารถแบ่งตามแนวทางการเลี้ยงและความชอบส่วนบุคคล เช่นความแปลกเนื่องจากเป็นชนิดพันธุ์ที่หายาก (rare & very rare species) หรือความแปลกเนื่องจากความผิดปกติของยีนและเม็ดสี (morphs) ที่เราเรียกกันว่าสัตว์เผือก เป็นต้น และสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษยังหมายถึงสัตว์พื้นบ้านหรือสัตว์ป่าประจำถิ่นที่ไม่ผิดกฎหมายด้วย
อยากจะเลี้ยงต้องตรวจสอบอะไรบ้าง
ในการจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษจะต้องคำนึงถึงกฎหมายก่อนเป็นอันดับแรก ปัจจุบันสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษบางชนิดไม่ต้องขออนุญาตในการครอบครอง แต่บางชนิดยังต้องมีการขออนุญาตตามข้อบังคับของไซเตส (CITES) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าดาวอินเดียที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ จะไม่สามารถเลี้ยงได้เนื่องจากผิดกฎหมาย ส่วนคนที่มีในครอบครองอยู่แล้วจะต้องไปจดทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบเช่นกรมป่าไม้ หรือกรมคุ้มครองสัตว์ป่า กรณีสัตว์ป่าที่ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในไทย เช่น พญากระรอกดำ แมวดาว ห้ามมีไว้ครอบครอง แต่กรณีเป็นกลุ่มสัตว์ป่าที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศสามารถเลี้ยงได้และถ้ามีใบอนุญาตเพาะพันธุ์ก็จะถือว่าไม่ผิดกฎหมาย
นอกจากเรื่องของกฎหมายแล้วผู้เลี้ยงจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ และรู้จักนิสัยของสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษเป็นอย่างดีก่อนนำมาเลี้ยงไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาหาร สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พฤติกรรมทางธรรมชาติของสัตว์ชนิดนั้น รวมไปถึงการหาข้อมูลโรงพยาบาลสัตว์พิเศษเนื่องจากสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษต้องมีหมอเฉพาะทางในการรักษาและต้องใช้เครื่องมือที่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงทั่วไป
เลี้ยงแล้ว อย่าทิ้ง (กัน) นะ
สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้สามารถซื้อขายและเพาะพันธุ์ได้อย่างถูกกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นผู้ที่สนใจเลี้ยงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษจะต้องคำนึงเสมอว่าสัตว์เหล่านี้ถูกเพาะพันธุ์มาเพื่อให้แตกต่างจากสัตว์ที่เจอตามธรรมชาติ จึงไม่ควรไปจับ สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษออกมาจากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติเพื่อนำมาเลี้ยง และเมื่อเลี้ยงแล้วไม่ควรนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ถูกตัดแต่งพันธุกรรมและถูกเลี้ยงดูทำให้ไม่หลงเหลือสัญชาตญาณเดิม จึงไม่สามารถปรับตัวให้มีชีวิตรอดอยู่ในธรรมชาติได้
อีกทั้งถ้าเป็นสัตว์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจะถือว่าสัตว์ชนิดนั้นเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species) หากนำไปปล่อยในธรรมชาติอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ เช่นเต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดงซึ่งเป็นเต่าน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อแรกเกิดตัวเป็นสีเขียว รอบดวงตาสีแดงดูน่ารักคนจึงนิยมนำมาเลี้ยง แต่เมื่อโตขึ้นกระดองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจึงถูกนำมาปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชากรเต่าพื้นเมืองไทย เนื่องจากเต่าญี่ปุ่นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและทนต่อมลภาวะต่างๆ ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถขยายพันธุ์ แย่งอาหารและถิ่นที่อยู่ของเต่าพื้นเมืองไทย เป็นต้น
อ้างอิง
https://tailybuddy.com/viewtalk/48/
http://www.verdantplanet.org/protect/protectedanimal.php
https://www.dailynews.co.th/women/759699
https://www.tipsdd.com/pet/exotic-pet/
https://bit.ly/3alexkm