ประเภทของชาเขียวที่คุณควรรู้

ในปัจจุบันชาเขียวได้รับความนิยมอย่างมาก คงไม่มีใครไม่รู้จักชาเขียว เพราะมองไปทางไหนก็เห็นชาเขียวเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นขนม เครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และถ้าพูดถึงชาเขียวแล้ว หลาย ๆ คนมักจะนึกถึงรสชาติความอร่อย กลิ่นที่หอมสดชื่น และคุณประโยชน์มากมายของชาเขียว แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าจริง ๆ แล้วชาเขียวนั้นมีหลายประเภท ถึงแม้ว่าจะมาจากต้นชาเดียวกัน แต่กรรมวิธีการผลิตต่างกันก็ส่งผลให้
ทั้งรสชาติ สี และกลิ่น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพื่อไม่ให้เสียชื่อของสาวกชาเขียว เราไปทำความรู้จักกับ
ประเภทของชาเขียวผ่านบทความนี้กันเลย

ชาเขียว (Green tea) คืออะไร ?

ชาเขียว (Green tea) คือ ชาที่ได้มาจากต้นชาที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis ผลิตด้วยการอบไอน้ำและถูกนวด ซึ่งการทำเช่นนี้จะเป็นการรักษาสภาพของใบชาให้คงเดิมมากที่สุดก่อนจะนำไปอบแห้ง เพื่อดึงรสชาติและกลิ่นหอมของใบชาออกมา นอกจากนี้ชาเขียวไม่ได้ผ่านการหมักเหมือนชาประเภทอื่น ๆ ทำให้ชาไม่เปลี่ยนเป็นสีดำแต่ยังคงความเขียวสด และมีคุณภาพเช่นเดียวกับใบชาสด เมื่อชงน้ำร้อนจะได้สีของน้ำชาออกมาเป็นสีเขียว และมีรสชาติขมที่เป็นเอกลักษณ์นั่นเอง

ชาเขียวยอดนิยม 6 ประเภทที่ควรรู้จัก

  1. เกียวคุโระ (Gyokuro) ชาคุณภาพสูง ที่ผ่านการเลี้ยงในร่มเพื่อรักษาสารอาหารให้ได้มากที่สุด และเก็บเป็นชาแรกของปี โดยจะเก็บเฉพาะยอดอ่อนของใบชาเท่านั้น เนื่องจากเก็บเกี่ยวได้ปริมาณน้อย จึงทำให้ชาเกียวคุโระมีราคาแพงเน้นใช้ในงานพิธีการ มีรสชาติหวานกลมกล่อม ดื่มง่าย และฝาดน้อย ซึ่งลักษณะพิเศษของชาเกียวคุโระ คือใบชาที่ม้วนตัวอย่างสวยงาม
  2. เซนฉะ (Sencha) ชาเขียวที่มีคุณภาพรองจากเกียวกุโระและมัทฉะ เป็นชาที่นิยมดื่มกันมากที่สุด ซึ่งชาจะปลูกโดนแสงแดดตลอดเวลาจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บมาแล้วจะทำการนึ่ง นวด และอบแห้งเหมือนชาเกียวคุโระ จึงทำให้ชาที่ได้มีสีเขียวมรกต มีรสชาติหวานปนขม และกลิ่นหอมสดชื่นในปริมาณที่สมดุลกัน
  3. เกนไมฉะ (Genmaicha) เกนไมฉะ หรือ ชาข้าวคั่ว เป็นชาเขียวที่ผสมกับข้าวคั่วญี่ปุ่น ทำให้ชามีสีเหลืองอ่อน มีรสชาติที่ฝาดกำลังดี หวานน้อย มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของข้าวคั่ว และที่สำคัญมีปริมาณคาเฟอีนน้อยมากเมื่อเทียบกับชาบันฉะ หรือชาเซนฉะ จึงทำให้เป็นชาที่เหมาะสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ
  4. โฮจิฉะ (Hojicha) โฮจิฉะมักจะผลิตด้วยชาบันฉะ เซนฉะ และคุคิฉะที่ถูกเก็บเกี่ยวในช่วงสุดท้าย มาผสมรวมกันก่อนจะนำไปคั่ว ทำให้ชามีสีน้ำตาล รสชาติอ่อน และมีกลิ่นหอมหวาน เป็นชาที่ให้ความรู้สึกดื่มสบาย ๆ ระหว่างมื้อหลังอาหารเย็น หรือก่อนนอนก็ได้จึงเหมาะสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และคนป่วย เพราะมีคาเฟอีนต่ำ
  5. มัทฉะ (Matcha) มัทฉะได้มาจากการนำชาเทนฉะไปอบด้วยไอน้ำ แล้วอบแห้งโดยไม่นวดใบชา ก่อนจะนำไปบดเป็นผงละเอียด มีรสชาติดี กลิ่นหอมเฉพาะตัว และฝาดน้อย มักจะใช้ในพิธีชงชา ซึ่งมัทฉะแบ่งเป็นหลายเกรดสามารถสังเกตได้จากสีของมัทฉะ ยิ่งมัทฉะสีเข้มเท่าไหร่ คุณภาพก็ยิ่งดี และการดื่มมัทฉะ 1 ถ้วย จะได้รับสารอาหารเท่ากับดื่มชาเขียวประเภทอื่น 10-15 แก้วเลยทีเดียว
  6. บันฉะ (Bancha) บันฉะ เป็นใบชาเกรดต่ำสุดที่ได้มาจากใบชาที่เก็บนอกฤดูกาล จึงแทบจะไม่มีความขมและรสชาติที่สดชื่น เหมาะสำหรับดื่มทั่วไปในชีวิตประจำวัน

อ้างอิง

https://bit.ly/3ogtafj
https://bit.ly/3wySvEZ
https://bit.ly/3kiLIKQ
https://bit.ly/3ohmPQS