ชาเขียว & มัทฉะ ความต่างที่สร้างความอร่อย

ชาเป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมที่ได้จากส่วนของใบ ยอดอ่อน และก้านของต้นชา ที่ผ่านการแปรรูปเพื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม กลิ่นหอมที่ได้จากชาเกิดจากสารต่าง ๆ ที่อยู่ในชาที่มีคุณสมบัติเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งพืชหลายชนิดที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยเช่นนี้ สามารถนำมาตากแห้ง ใช้ชงหรือต้มกับน้ำร้อนก็เรียก ชา ได้เช่นกัน ทำให้ชามีหลากหลายชนิด โดยปัจจุบันชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงชา 2 ประเภท ที่ได้จากต้นชา คือ ชาเขียว (Green Tea) และชาเขียวมัทฉะ (Matcha) เครื่องดื่มสีเขียว กลิ่นหอม ที่หลายคนชื่นชอบเพราะไม่ว่าจะไปร้านอาหารหรือคาเฟ่ก็สามารถพบเจอได้ ถือได้ว่าเป็นเครื่องดื่มอันดับต้น ๆ ที่เป็นตัวเลือกสำหรับคนไม่ดื่มกาแฟ โดยทั้งชาเขียวและชาเขียวมัทฉะนั้น มีต้นกำเนิดมาจากต้นชาเช่นเดียวกัน แต่มีความต่างในเรื่องของ “กรรมวิธีการผลิต”

1. ชาเขียว (Green Tea)

ชาเขียวได้จากการนำใบชาสดมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วด้วยการอบผ่านความร้อน เพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไม่ให้เกิดการสลายตัว ใบชาที่ได้จึงแห้ง สด มีสีค่อนข้างเขียว และยังคงสารสำคัญที่มีประโยชน์ ได้แก่

  • สารกลุ่มโพลิฟีนอล เช่น อีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (epigallocatechin gallate : EGCG) , ไมริซิติน (myricetin), เคอร์ซิติน (quercetin) และแคมป์เฟอรอล (kaempferol) ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งบางชนิดได้ ในชาเขียวจะพบสารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลตในปริมาณมากกว่าสารชนิดอื่น นั่นจึงทำให้สามารถต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย
  • สารในกลุ่มแซนทีนอัลคาลอยด์ (xanthine alkaloids) ได้แก่ คาเฟอีน (caffeine) และธิโอฟิลลีน (theophylline) ที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว
  • ชาเขียวยังมีกรดอะมิโน วิตามิน B, วิตามิน C และวิตามิน E ที่จำเป็นต่อร่างกาย คลอโรฟิลล์ที่มีประโยชน์ต่อกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง และช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย

2. ชาเขียวมัทฉะ (Matcha)

ชาเขียวมัทฉะมีความซับซ้อนตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก คือ ต้องมีการดูแลเอาใจใส่ต้นชาเป็นอย่างดี โดยจะคลุมต้นชาด้วยตาข่ายเป็นเวลา 30 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ใบชาสร้างคลอโรฟิลล์มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการสังเคราะห์แสง ส่งผลให้ใบชามีสีเขียวเข้ม และเป็นการป้องกันการเปลี่ยนสารแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) ในใบชาเป็นคาเทชินเมื่อโดนแสงแดด ทำให้ชาเขียวมัทฉะมีสารแอล-ธีอะนีนสูงกว่าชาเขียว ซึ่งส่งผลให้มีรสชาติที่ดีกว่าด้วย อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของสารนี้ที่ช่วยลดสภาวะความเครียดทางจิตใจ ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย เพิ่มสมาธิช่วย ลดความดันโลหิตได้ จึงควรค่าแก่การเก็บรักษาไนอกจากนี้ชาเขียวมัทฉะยังมีสารสำคัญเช่นเดียวกับที่พบในชาเขียว โดยเฉพาะสารอีพิกัลโลคาเทชินกัลป์เลต ทำให้สามารถต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งอุดมไปด้วยวิตามิน A, วิตามิน C และวิตามิน E ที่ช่วยชะลอวัยทำให้ดวงตาและผิวพรรณสดใส

สำหรับขั้นตอนการบดเป็นผงของชาเขียวมัทฉะ ทำได้โดยนำใบชาที่แห้งจากการผ่านความร้อน มาบดทั้งใบโดยไม่มีการแยกกากออก ส่งผลให้ชาเขียวมัทฉะอุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย ขณะเดียวกันก็ได้รสชาติขมของคลอโรฟิลล์ปนออกมาด้วย

รู้หรือไม่!! วิธีการรับประทานชา 2 ประเภท นี้ไม่เหมือนกันนะ

  • ชาเขียวปกติจะมาในรูปแบบของใบชาแห้ง โดยต้องนำใบชามาชงหรือต้มและกรองก่อนนำไปดื่มเป็นเครื่องดื่มร้อนเย็น หรือปั่น แต่ไม่เหมาะที่จะนำไปทำขนมหรือไอศกรีม
  • ชาเขียวมัทฉะ เป็นส่วนของใบชาที่บดเป็นผงคล้ายผงแป้งสามารถละลายในน้ำได้ มีความเข้มข้นมาก และดื่มได้ทันทีโดยไม่ต้องกรอง แต่ด้วยรสชาติที่ขมเล็กน้อยทำให้การดื่มชาเขียวมัทฉะจึงต้องเติมนมลงไปด้วย เพื่อให้ได้รสชาติที่นุ่มกลมกล่อม และดื่มง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเอาไปทำขนมหรือไอศกรีมได้ด้วย

ด้วยกรรมวิธีการผลิตทำให้ชาเขียวมัทฉะมีปริมาณสารสำคัญที่พบในชาแตกต่างจากชาเขียวธรรมดาค่อนข้างมาก ซึ่งนำไปสู่ราคาที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยหากเราสังเกตตามร้านอาหารหรือคาเฟ่ จะพบว่าเครื่องดื่มหรือขนมที่มีส่วนผสมของชาเขียวมัทฉะจะมีราคาสูงกว่าชาเขียวเสมอ เพราะกรรมวิธีการผลิตและการปลูกที่ซับซ้อนรวมไปถึงคุณประโยชน์ภายในตัวชานั้นเอง

อ้างอิง