มีอะไรอยู่ใน…สับปะรด : แค่ผลไม้รสเปรี้ยวจริงหรือ?

หากใครที่เคยรับประทานสับปะรดแบบผลสด นอกจากรสเปรี้ยวอมหวานที่หลาย ๆ คน ชื่นชอบกันแล้ว สำหรับบางคนอาจจะมีอาการ คัน แสบ หรือเกิดการระคายเคืองบริเวณลิ้น ขณะหรือหลังรับประทานสับปะรด ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อร่างกายของเราหรือไม่ ? วันนี้จะพามารู้จักเกี่ยวกับสารที่เกี่ยวข้องในสับปะรดกัน

สับปะรดเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน เนื่องจากมีกรดซิตริก และกรดมาลิก เป็นองค์ประกอบ จึงทำให้สับปะรดมีรสเปรี้ยว ซึ่งกรดซิตริกสามารถพบได้ทั่วไปในพืชตระกูลส้มและผลไม้หลาย ๆ ชนิด เช่น ส้ม มะนาว เป็นต้น นอกจากนี้ภายในสับปะรด ยังพบเอนไซม์ตามธรรมชาติที่ชื่อว่า บรอมมีเลน (Bromelain) อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของสับปะรด แต่พบปริมาณมากบริเวณแกนกลางผล มีคุณสมบัติในการย่อยสลายโปรตีน

เมื่อเรารับประทานสับปะรดเข้าไปลิ้นของเราซึ่งมีโปรตีนธรรมชาติเคลือบอยู่ เอนไซม์ชนิดนี้จะทำการย่อยสลายโปรตีนที่ลิ้นของเราไปด้วย นั่นจึงทำให้บริเวณลิ้นเกิดการระคายเคือง รู้สึกแสบ คันได้ หลังจากนั้นลิ้นจะสร้างโปรตีนใหม่ขึ้นมาทดแทน นอกจากนี้สับปะรดยังมีแร่ธาตุ วิตามินซี วิตามินบี 2 ,3, 5 กรดโฟลิก แคลเซียม และอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งสับปะรดมีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ปัสสาวะขัด บรรเทาอาการของโรคเกาต์  บรรเทาการอักเสบและการสมานแผล เป็นต้น

เคล็ดลับดี ๆ กินอย่างไรไม่ให้แสบลิ้น

  • แช่น้ำเกลือ โดยหั่นเป็นชิ้นและแช่ทิ้งไว้ 10 นาที เพื่อลดความเป็นกรดและเอนไซม์ลง ช่วยให้สับปะรดขับความหวานได้มากขึ้น
  • ตัดแกนกลางทิ้ง บริเวณแกนกลางจะมีปริมาณเอนไซม์มาก หากตัดทิ้งแล้วจะช่วยลดปริมาณของเอนไซม์ลงได้
  • แช่เย็น การแช่เย็นช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ลดลง
  • นำไปปรุงสุก เอนไซม์จะเสื่อมสภาพที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส ดังนั้นการนำไปปรุงอาหารประเภทอื่น ๆ จะช่วยให้ลดการระคายเคืองได้

สับปะรดนิยมนำมาทำเป็นอาหารหลายชนิด ทั้งเครื่องดื่ม อาหารคาวและหวาน รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ถ้าอยากรับประทานให้ได้สารอาหารครบถ้วนต้องรับประทานแบบผลไม้สด  ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ควรรับประทานในช่วงท้องว่าง เนื่องจากมีเอนไซม์และกรดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้ 

การรับประทานสับปะรดหลังอาหารจะช่วยในเรื่องของการย่อยและโปรตีนที่ตกค้างอยู่ในลำไส้  การเลือกซื้อและนำมารับประทานนั้นหากสับปะรดมีลักษณะนิ่มและมีน้ำเหนียว ๆ ไหลออกมาจะเป็นสับปะรดที่เริ่มเน่า จึงไม่ควรนำมารับประทาน และด้วยสรรพคุณของสับปะรดที่มีมากมายหลายชนิดนั้น จึงได้มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และเภสัชกรรมเพื่อนำมาผลิตเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย การอักเสบและมะเร็งบางชนิดอีกด้วย

อ้างอิง