อาหารที่ช่วยลดความวิตกกังวล

ความวิตกกังวลเป็นหนึ่งในภาวะสุขภาพจิต ซึ่งมีผลกระทบต่อประชากรประมาณร้อยละ 7.6 ของโลก ความวิตกกังวลเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พบได้ในมนุษย์เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดที่มีประโยชน์ในบางสถานการณ์เพราะช่วยให้เราตื่นตัวและพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามโรควิตกกังวลมีความแตกต่างจากความรู้สึกวิตกกังวลทั่ว ๆ ไป ซึ่งคนที่เป็นโรควิตกกังวลจะรู้สึกวิตกกังวลและกลัวบางอย่างเกินเหตุจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อลดอาการที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราจึงขอนำเสนอรายการอาหารที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของสมองและช่วยบรรเทาความวิตกกังวล

1. ชาเขียว

ชาเขียวมีแอล-ธีอะนีน (L-Theanine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโน (Amino Acid) ได้รับการศึกษาถึงผลในเชิงบวกที่อาจมีต่อสุขภาพสมองและการลดความวิตกกังวล ในการศึกษาพบว่าผู้เข้าร่วมที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอล-ธีอะนีน มีระดับความเครียดลดลงและระดับคอร์ติซอล (Cortisol) ลดลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดที่เชื่อมโยงกับความวิตกกังวล นอกจากนี้ชาเขียวยังประกอบด้วยอีพีกัลโลคาเทชินกัลเลต (Epigallocatechin gallate ; EGCG) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่แนะนำเพื่อส่งเสริมสุขภาพสมองอาจมีบทบาทในการลดอาการบางอย่างโดยการเพิ่มกาบ้า (GammaAminobutyric Acid ; GABA) ในสมองซึ่งเป็นกลุ่มโปรตีนที่ช่วยบำรุงเซลล์ประสาทนั่นเอง

2. ดอกคาโมมายล์

เป็นสมุนไพรที่อาจช่วยลดความวิตกกังวล มีทั้งคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบซึ่งอาจช่วยลดการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล แม้ว่ากลไกอาจไม่ชัดเจนนักแต่เชื่อกันว่าดอกคาโมมายล์ช่วยควบคุมสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) โดปามีน (Dopamine) และกาบ้า (GABA) จากการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างจากคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปจำนวน 179 คน พบว่ามีอาการลดลง หลังจากดื่มสารสกัดจากดอกคาโมมายล์ (1,500 มิลลิกรัมต่อวัน) เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้กิน

3. ขมิ้นชัน

เป็นเครื่องเทศที่มีเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งเป็นสารประกอบในการส่งเสริมสุขภาพสมองและป้องกันอาการวิตกกังวล เคอร์คูมินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ซึ่งอาจช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์สมองที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังและความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน จากการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างจากการบริโภคเคอร์คูมิน 1 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 30 วัน แสดงให้เห็นว่าค่าคะแนนความวิตกกังวลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

4. ดาร์กช็อกโกแลต

ดาร์กช็อกโกแลตประกอบด้วยฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง บางการศึกษาแสดงให้เห็นว่าฟลาโวนอยด์ในดาร์กช็อกโกแลตอาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของสมองและมีผลในการป้องกันระบบประสาท นอกจากนี้ยังเพิ่มการไหลของเลือดไปยังสมองและเพิ่มเส้นทางการส่งสัญญาณของเซลล์ จากการศึกษาซึ่งมีผู้เข้าร่วม 13,626 คน พบว่าผู้ที่กินดาร์กช็อกโกแลตมีอาการซึมเศร้าต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ค่อยกินดาร์กช็อกโกแลต

5. แซลมอน

ประกอบด้วยสารอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพสมอง รวมทั้งวิตามินดีและกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexanoic acid (DHA) ซึ่งสารอาหารเหล่านี้อาจช่วยควบคุมสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยทำให้รู้สึกสงบและผ่อนคลาย นอกจากนี้อาหารที่อุดมไปด้วย EPA และ DHA นั้นสัมพันธ์กับอัตราความวิตกกังวลที่ลดลง โดยเชื่อกันว่ากรดไขมันเหล่านี้ สามารถลดการอักเสบและป้องกันความผิดปกติของเซลล์สมองซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีความวิตกกังวลอีกด้วย

อ้างอิง