
แน่นอนว่าในช่วงที่ผ่านมาราคาหมูของไทยพุ่งกระฉูดถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชน สาเหตุหนึ่งของวิกฤติครั้งนี้เกิดจากมีโรคระบาดที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงในหมูเรียกว่า โรค ASF ย่อมาจาก African Swine Fever นั่นก็คือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูนั่นเอง โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส กลุ่ม Asfarviridae โดยเชื้อไวรัสกลุ่มนี้สามารถแพร่ระบาดได้จากการกินอาหารที่ปนเปื้อน การสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ การหายใจนำเชื้อเข้าสู่ปอด ติดเชื้อทางบาดแผล และถูกเห็บอ่อนสกุล Ornithodoros ที่เป็นพาหะกัด
ความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสนี้ทำให้โรคสามารถแพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะกับหมูเลี้ยง ส่วนในหมูป่านั้นจะเป็นแหล่งรังโรค หรือแหล่งที่เชื้อก่อโรคอาศัยอยู่เพื่อเติบโตและเพิ่มจำนวนเท่านั้น ไม่ได้ทำให้หมูเกิดการเจ็บป่วย โดยอาการของโรคเมื่อหมูมีการติดเชื้อแล้วจะมีไข้สูง เกิดการอาเจียน ขับถ่ายเป็นเลือด และมีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำบริเวณใบหู นอกจากนี้ยังแท้งลูกทุกช่วงของการตั้งครรภ์อีกด้วย หลังจากการติดเชื้อจะแสดงอาการภายใน 3-4 วัน เมื่อเกิดการติดเชื้อโอกาสรอดจะน้อยมากเพราะมีอัตราการตายสูงเกือบ 100% ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้หมูขาดตลาดอย่างที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากถ้ามีการพบการระบาดของเชื้อภายในฟาร์ม หมูที่ตายจากโรคนี้ผู้เลี้ยงมักจะนำไปทำลายบางครั้งจะต้องมีการเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจทำให้อากาศและแหล่งน้ำในเส้นทางที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายมีการปนเปื้อนจากเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งในร่างกาย อาหาร หรืออุจจาระของหมู การเคลื่อนย้ายจึงนับว่าเป็นการเพิ่มระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคนี้
ดังนั้นเมื่อเจ้าของฟาร์มพบว่ามีหมูตายเฉียบพลันแสดงถึงมีการเกิดโรคจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- ต้องทำลายหมูและซากทั้งฟาร์ม
- แจ้งกรมปศุสัตว์ให้มีการสอบสวนโรค
- เก็บตัวอย่างส่งตรวจ
- จำกัดการเคลื่อนย้ายสัตว์
- พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรคที่ฟาร์ม
- กำจัดสัตว์พาหะ
- ระหว่างนั้นจะต้องมีการพักคอกอีกอย่างน้อย 12 สัปดาห์
และจะต้องมีการประกาศว่ามีโรคระบาดพร้อมสอบสวนความเชื่อมโยงในรัศมี 5 กิโลเมตรอีกด้วย เพราะถึงแม้ว่าโรคนี้จะยังไม่มีการระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์ก็ตาม แต่ไวรัสกลุ่มนี้ถือว่าน่ากลัวเป็นอย่างมากเนื่องจากสามารถติดต่อได้หลายทาง และในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ อีกทั้งไวรัสยังมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก สามารถอยู่ในผลิตภัณฑ์จากหมูได้นานสูงสุดถึง 18 เดือนจึงทำให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและยากที่จะควบคุม
อ้างอิง
- แผนเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร AFRICAN SWINE FEVER
- รู้จักก่อนสาย “ASF” ไวรัสร้ายพิฆาตสุกร
- แผนเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Clinical Practice Guideline)
- AFRICAN SWINE FEVER: DETECTION AND DIAGNOSIS