เพราะเราคู่กัน…เต้าเสียบ ❤ เต้ารับ (plug and socket)

ไฟฟ้าที่ใช้กันตามบ้านเรือนในประเทศไทยเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ระบบไฟฟ้า 220 โวลต์ ความถี่ 50 เฮิร์ต (220 V 50 Hz) ในขณะที่บางประเทศอย่างญี่ปุ่นใช้ระบบไฟฟ้า 100 โวลต์ ความถี่ 50/60 เฮิร์ต (100 V 50/60 Hz) และหลายประเทศในยุโรปใช้ระบบไฟฟ้า 230 โวลต์ ความถี่ 50 เฮิร์ต (230 V 50 Hz) ซึ่งนอกจากแต่ละประเทศจะใช้ระบบไฟฟ้าแตกต่างกันแล้ว อุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้งานเป็นคู่เพื่อต่อเข้ากับวงจรไฟฟ้าให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่าง เต้าเสียบ (plug) หรือที่เรามักเรียกว่า ปลั๊กไฟ และเต้ารับ (socket) ที่ใช้ในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันไปด้วย

คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอนิกส์ (International Electrotechnical Commission) หรือ IEC ได้จัดรูปแบบของเต้าเสียบและเต้ารับออกเป็น 15 แบบ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.iec.ch/worldplugs) โดยแต่ละแบบจะมีลักษณะขา จำนวนขา การต่อกราวด์ การใช้ปริมาณกระแสไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าแตกต่างกันไป และถูกเรียกชื่อเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ จาก A-O เช่น Type A, Type B และ Type C เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้เต้าเสียบและเต้ารับอยู่ 5 แบบด้วยกัน คือ Type A, B, C, F และ O โดย Type O มีการใช้งานเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ลักษณะของเต้าเสียบและเต้ารับทั้ง 5 แบบ มีดังนี้

Type A

เต้าเสียบมี 2 ขา เป็นขาแบน ไม่มีการต่อลงดิน (grounding) เต้ารับ type A ใช้ได้กับเต้าเสียบ type A ด้วยกันเท่านั้น

Type B

เต้าเสียบมี 3 ขา เป็นขาแบน 2 ขา มีขากลม 1 ขาสำหรับต่อลงดิน เต้ารับ type B สามารถใช้กับเต้าเสียบ type A กับ B ได้   

Type C

เต้าเสียบมี 2 ขา เป็นขากลม ไม่มีการต่อลงดิน เต้ารับ type C ใช้ได้กับเต้าเสียบ type C ด้วยกันเท่านั้น

Type F

เต้าเสียบมี 2 ขา เป็นขากลม มีการต่อลงดิน เต้ารับ type F สามารถใช้ได้กับเต้าเสียบ type C, E และ F ได้

Type O

เต้าเสียบมี 3 ขา เป็นขากลม มีการต่อลงดิน แต่เดิมเต้ารับ type O ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้ได้กับเต้าเสียบ type C และ O แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังมีการใช้เต้าเสียบแบบ type A และ B ซึ่งมีขาแบน 2 ขาอยู่ด้วย ตัวเต้ารับ type O ที่จำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงออกแบบมาในลักษณะ hybrid คือผสมผสานระหว่างขากลมและขาแบน

เพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ประชาชน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีนโยบายกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ประเภทบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์เต้าเสียบและเต้ารับต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก.166-2549 หรือมาตรฐานบังคับ ให้มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมเต้าเสียบและเต้ารับเป็นกลุ่มประเภท มอก.ทั่วไป แต่เนื่องจากประชาชนมีการใช้งานทุกบ้านทุกวัน จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายหากใช้สินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยเต้าเสียบที่ได้มาตรฐาน มอก.166/2549 จะเป็นแบบขากลมเท่านั้น ส่วนเต้ารับจะเป็นแบบขากลมหรือขากลมแบน เพื่อรองรับเต้าเสียบแบบขาแบนที่ยังมีการใช้งานอยู่

สำหรับข้อควรระวังในการใช้งานเต้าเสียบและเต้ารับ คือไม่ควรใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันหลายเครื่องผ่านเต้ารับเดียวกัน เพราะอาจสะสมความร้อนจนเกิดเพลิงไหม้ได้ ต้องมีระบบสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว และหลังจากใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าเสร็จแล้ว อย่าลืมแยกเต้าเสียบและเต้ารับออกจากกัน หรือที่เราเรียกว่า ปลดปลั๊ก นั่นเอง

อ้างอิง