อาหารอินทรีย์ เรื่องที่สายออร์แกนิกต้องรู้

อาหารอินทรีย์ หรือที่เราเรียกกันว่า อาหารออร์แกนิก (organic food) ปัจจุบันเป็นกลุ่มอาหารที่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาหารมีการปรุงด้วยส่วนประกอบทุกอย่างที่มาจากธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีในการผลิต และไม่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม (genetic modification, GMO) จึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าอาหารนั้นมีความปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ ซึ่งแตกต่างกับอาหารปลอดภัย ที่ยังสามารถใช้สารเคมี แต่ต้องอยู่ในมาตรฐานของการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และมีการเว้นช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้สารเคมีในอาหารอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในการบริโภค

กว่าจะได้มาเป็นอาหารอินทรีย์ที่เราบริโภคกัน มีขั้นตอนการผลิตที่ต้องใส่ใจมากกว่าปกติ เพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณภาพมาตรฐาน อุดมด้วยคุณค่าสารอาหารที่ดีและปลอดสารพิษ โดยเริ่มต้นจากต้นทาง คือ การทำเกษตรอินทรีย์ที่ใช้วิธีการทางธรรมชาติ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ส่วนเนื้อสัตว์ก็มีการเลี้ยงดูด้วยการให้อาหารอินทรีย์ ไม่เจือปนสารเคมี หรือการใช้ยา และฮอร์โมน ทำให้สามารถรักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต จึงถือว่าเป็นการเกษตรที่คำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

แล้วถ้าจะเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบปกติมาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร?

กรณีที่เคยทำเกษตรที่ใช้สารเคมีมาก่อนจะต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกก่อน โดยต้องกำหนดแผนในการปรับเปลี่ยนตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 12 – 36 เดือน ขึ้นกับรูปแบบที่เลือกในการปรับ มีวิธีการป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีที่มาจากดิน น้ำ และอากาศ หรือการทำแนวกันชนระหว่างแปลงปลูก และพื้นที่ทำเกษตรต้องอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนการเลือกพันธุ์พืชต้องมีความต้านทานต่อศัตรูพืช ไม่มีการตัดต่อสารพันธุกรรม หรือผ่านการอาบรังสี รวมทั้งต้องปลูกพืชหลากหลายพันธุ์และปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศไปด้วย

ปัจจุบันมีผู้ผลิตบางรายที่ไม่ได้เป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง แต่มีการกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตนั้นเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลือกผลิตภัณฑ์อินทรีย์ได้อย่างถูกต้อง โดยสังเกตเบื้องต้นจากตรารับรองเกษตรอินทรีย์ที่มีหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ตัวอย่างตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในไทยที่ใช้ข้อกำหนดคล้ายกับของประเทศอเมริกา คือ ผลิตภัณฑ์ที่จะแสดงเครื่องหมายรับรอง “Organic Thailand” ได้นั้น ต้องมีส่วนประกอบที่มาจากการผลิตแบบอินทรีย์ตั้งแต่ 95% ขึ้นไปเท่านั้น

แต่ถ้าผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบจากการผลิตแบบอินทรีย์ 95 – 70% จะใช้คำว่า “ผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบจากผลิตผลอินทรีย์” ตัวอย่างการระบุบนฉลาก คือ กล้วยฉาบผลิตภัณฑ์จากกล้วยอินทรีย์ หรือ กล้วยฉาบจากกล้วยอินทรีย์ และกรณีผลผลิตอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนเป็นอินทรีย์ จะใช้คำว่า “ผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ช่วงปรับเปลี่ยนเป็นอินทรีย์”

ถึงแม้ว่าอาหารอินทรีย์จะมีข้อเสีย คือ มีอายุการเก็บรักษาสั้น เนื่องจากการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมีกันเสีย และผลิตภัณฑ์มีรอยช้ำหรือถูกกัดกิน ซึ่งง่ายต่อการเน่าเสียโดยจุลินทรีย์ อีกทั้งยังมีราคาแพงกว่าอาหารปกติ เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์ให้ผลผลิตน้อยกว่า และต้องใช้คนดูแลมากกว่าปกติในการกำจัดศัตรูพืช แต่มีข้อดีที่มากกว่านั้น คือ การลดการทำลายหรือการปนเปื้อนสารเคมีต่อสิ่งแวดล้อม การลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีและยาปฏิชีวนะที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว และผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้มีรสชาติดี มีสารต้านอนุมูลอิสระ แร่ธาตุและสารที่ดีต่อสุขภาพอื่น ๆ สูงกว่าผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป

อ้างอิง

https://bit.ly/3CWmn06
https://bit.ly/3oozZxo
https://bit.ly/2Y7vhtb
https://bit.ly/3B0VOGv
https://bit.ly/3AUEhzM