เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพลานาเรีย

หากพูดถึงสิ่งมีชีวิตรอบ ๆ ตัว ซึ่งมีจำนวนมากมายหลายชนิด รูปร่างแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดล้วนอาศัยอยู่ในแหล่งที่แตกต่างกัน สำหรับวันนี้จะพามารู้จักกับสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำและมีคุณสมบัติพิเศษอย่าง พลานาเรีย (Planarian)

พลานาเรียจัดอยู่ในไฟลัมแพลทีเฮลมินธิส (Platyhelminthes) ของอาณาจักรสัตว์ ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ หนอนตัวแบน (Flatworm) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ปัจจุบันสัตว์ในไฟลัมนี้มีประมาณ 20,000 ชนิด มีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันออกไปทั้งบนบกและในน้ำ โดยส่วนใหญ่แล้วจะดำรงชีวิตแบบปรสิต (Parasites) ในสัตว์ที่มีกระดูกสัตว์สันหลัง เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้

ส่วนพลานาเรียจะดำรงชีวิตแบบอิสระ (Free living) อาศัยอยู่ในน้ำจืดค่อนข้างสะอาดบริเวณคลองหรือบึง พบได้บริเวณโขดหิน ท่อนไม้ เป็นต้น มีลักษณะลำตัวแบน ความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน ไม่แบ่งเป็นปล้อง ผิวหนังบาง มีต่อมเมือกและขนเซลล์เล็ก ๆ สำหรับใช้ในการเคลื่อนที่ บริเวณส่วนหัวจะมีเซลล์คล้ายกับดวงตา เรียกว่า Eyespot จำนวน 2 จุด แบ่งออกเป็น ส่วนสีขาวใสและสีดำ ทำหน้าที่คล้ายดวงตาในการรับแสง ส่วนบริเวณด้านข้างจะมีลักษณะคล้ายหู เรียกว่า Auricle ใช้ทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่เลือกกินอาหารหรือเคลื่อนหนีจากสารเคมีต่าง ๆ

พลานาเรียดำรงชีวิตด้วยการกินพวกเนื้อสัตว์ชิ้นเล็ก ๆ ตัวอ่อนแมลง โปรโตซัว ไรน้ำ เป็นอาหาร และสิ่งที่ทำให้พลานาเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ การเพิ่มจำนวนที่เรียกว่า การงอกใหม่ หรือ Regeneration เป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ หากตัดพลานาเรียออกเป็น 4 ท่อน พลานาเรียนี้จะยังไม่ตาย แต่จะเกิดการสร้างส่วนที่ขาดหายไป สามารถงอกร่างกายได้ใหม่ ทำให้ได้พลานาเรียที่สมบูรณ์เพิ่มขึ้นอีก 4 ตัว ไม่ว่าจะยิ่งตัดพลานาเรียเพิ่มไปเท่าไร ก็จะมีพลานาเรียงอกเพิ่มขึ้นมาใหม่เท่านั้น ทั้งนี้การงอกใหม่เกิดจาก Stem cell หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่กระจายอยู่ในพลานาเรียที่มีการแบ่งเซลล์ตลอดเวลา สามารถเติบโตไปเป็นเซลล์ที่เป็นอวัยวะใหม่ได้ ซึ่งนี่ก็คือคุณสมบัติพิเศษของพลานาเรีย ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของสเต็มเซลล์ภายในพลานาเรีย และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากในอนาคตมีการนำไปต่อยอดหรือพัฒนาเพื่อใช้ในด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นอวัยวะทดแทนให้กับผู้ป่วยได้

อ้างอิง