พรางเพื่อให้ (อยู่) รอด

พรางเพื่อให้ (อยู่) รอด

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้สิ่งมีชีวิตต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมนั้น ๆ เพื่อป้องกันตนเองจากภัยคุกคามหรือจากผู้ล่า “การพรางตัว” (Camouflage) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้สิ่งมีชีวิตรอดจากภัยคุกคามเหล่านั้น

การพรางตัวมีหัวใจหลัก ๆ คือ การทำตัวให้กลมกลืนกับสิ่งที่อยู่รอบข้างให้มากที่สุด เพื่อที่ผู้ล่าหรือเหยื่อจะไม่สามารถมองเห็นหรือระบุตำแหน่งได้ ซึ่งสัตว์แต่ละชนิดก็จะมีรูปแบบการพรางตัวที่แตกต่างกันตามลักษณะสิ่งแวดล้อม พฤติกรรม และเป้าหมายในการพรางตัว

ประเภทของการพรางตัว

การใช้สีเพื่อซ่อนตัว (Cryptic coloration)

เป็นการพรางตัวโดยทำให้สีและลวดลายกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นจุดเด่น เช่น นกเค้าแมวตะวันออกที่ปรับตัวให้ขนมีสีและลักษณะคล้ายเปลือกไม้ที่อาศัยอยู่ขนของจิงที่พรางตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ สุนัขจิ้งจอกอาร์กติกที่ปรับตัวให้สีขนกลืนไปกับหิมะในฤดูหนาว และเปลี่ยนสีขนให้กลืนกับก้อนหินและต้นไม้ในฤดูร้อน ม้าน้ำแคระ (Pygmy seahorse) จะมีพฤติกรรมเกาะอาศัยอยู่กับกัลปังหาสกุล Muricella เท่านั้น และมีการปรับตัวให้มีลักษณะคล้ายกับกัลปังหาที่อาศัยอยู่ เป็นการพรางตัวเพื่อหลบซ่อนจากสัตว์ผู้ล่า

การพรางตัวแบบใช้สีให้สับสน (Disruptive coloration)

เป็นการพรางตัวโดยทำให้เกิดลวดลายบนผิวหนังไม่ว่าจะเป็นแบบลายริ้ว, ลายแถบ หรือลายจุด เพื่อให้เหยื่อหรือผู้ล่าเกิดความสับสน ลายแถบเหล่านี้เมื่ออยู่ใต้แสงและเงามืด หรือแม้แต่การอยู่รวมกันเป็นฝูงจะก่อให้เกิดความคลุมเครือสับสน เช่นฝูงม้าลายเมื่ออยู่รวมกันจะทำให้ผู้ล่าระบุตำแหน่งได้ยาก เสือโคร่งที่มีแถบสีดำคาดบนตัวจะพรางตัวให้เหยื่อเห็นตัวได้ยากขึ้น

การเลียนแบบ (Mimicry)

เป็นการพรางตัวให้ร่างกายบางส่วนหรือทั้งหมดให้ดูคล้ายกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้าง หรือการที่สัตว์ชนิดหนึ่งมีลักษณะรูปร่างหรือสีสันคล้ายกับสัตว์อีกชนิด ส่วนใหญ่มักจะเป็นสัตว์ไม่มีพิษเลียนแบบสีของสัตว์มีพิษเป็นต้น โดยจะเรียกสิ่งมีชีวิตที่ถูกเลียนแบบว่าต้นแบบ (model) และเรียกสิ่งมีชีวิตที่เลียนแบบว่าตัวเลียนแบบ (mimic)

ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้ (orchid mantis) เลียนแบบดอกกล้วยไม้เพื่อหลอกจับเหยื่อเป็นอาหาร Viceroy Butterfly พรางตัวเพื่อให้รอดจากการล่าของนกโดยการเลียนแบบลายและสีปีกของผีเสื้อจักรพรรดิ (Monarch butterfly) เนื่องจากเมื่อตอนที่เป็นหนอนผีเสื้อจักรพรรดิกินต้นไม้มีพิษที่ชื่อ milkweed เป็นอาหาร เมื่อเจริญเป็นผีเสื้อจึงมีพิษสะสมทำให้ปลอดภัยจากนกผู้ล่า

ผีเสื้อนกฮูก (owl butterfly) เลียนแบบลายบนปีกให้คล้ายกับตาของนกฮูกเพื่อทำให้ผู้ล่าตกใจ แมงมุมมดแดง (Myrmarachne plataleoides) พรางตัวเลียนแบบมดเพื่อหลอกมดมาจับกิน คางคกคองโก (Amietophrynus superciliaris) เลียนแบบลวดลายให้คล้ายงูพิษกาบูน (Bitis gabonica) เพื่อทำให้สัตว์นักล่าสับสน

จะเห็นได้ว่าสิ่งมีชีวิตมีความพยายามในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างน่ามหัศจรรย์ หากคุณพิจารณารอบตัวอย่างถี่ถ้วนคุณอาจจะพบสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ซ่อนเร้นพรางกายอยู่ก็เป็นได้

อ้างอิง

https://bit.ly/3kLngkV
https://bit.ly/3DDIn1c
https://bit.ly/2WHdVlr
https://bit.ly/3juA5jU
https://bit.ly/3yvhmsN
https://bit.ly/3t233uJ
https://bit.ly/3DDdYzK
https://bit.ly/3jx8uP0
https://bit.ly/3yxzXoi