
ทุกคนทราบหรือไม่ว่า พืชกระท่อมจากเดิมที่ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในตอนนี้ได้มีประกาศออกมาว่าพืชกระท่อมได้รับการปลดออกจากสถานะยาเสพติดแล้วทำให้เราสามารถใช้พืชกระท่อมได้หลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการวิจัย การปลูก หรือการบริโภค รู้อย่างนี้แล้วเรามาทำความรู้จักกับพืชกระท่อมกันดีกว่า ว่าพืชกระท่อมคืออะไร มาจากไหน มีประโยชน์หรือโทษอะไรบ้างผ่านบทความนี้กันเลย
พืชกระท่อมมีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใด ?
พืชกระท่อม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae
ซึ่งเป็นพืชวงศ์เข็มและกาแฟ มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้มากทางภาคใต้ของประเทศไทยมาเลเซียลงไปจนถึงเกาะนิวกินี โดยในประเทศไทยพบอยู่ 3 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันที่ลักษณะของใบ คือพันธุ์ก้านแดง (ก้านและเส้นใบสีแดง) พันธุ์แตงกวา (เส้นใบสีเขียวอ่อนกว่าแผ่นใบ) และพันธุ์ยักษาใหญ่ (ใบขนาดใหญ่กว่าพันธุ์อื่นและส่วนบนของขอบใบเป็นหยัก)
ทำไมในอดีตพืชกระท่อมถึงจัดเป็นยาเสพติด ?
ในอดีตมีการใช้ใบกระท่อมในการรักษาโรคต่าง ๆ โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็น
น้ำชา ซึ่งกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรมักบริโภคใบกระท่อมเพื่อกดอาการเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้นานขึ้น และตั้งแต่ปี 2486 ในสมัยรัชกาลที่ 8 รัฐบาลได้ออกกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมให้พืชกระท่อมจัดเป็นยาเสพติดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าและภาษีของรัฐ เนื่องจากรัฐเป็นผู้ผูกขาดการผลิตฝิ่น ซึ่งมีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น
พืชกระท่อมสามารถกินในรูปแบบใดได้บ้าง
การกินพืชกระท่อมมักนิยมนำใบสดหรือใบแห้งมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา แต่ถ้าหากกินใบกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้เล็กได้เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ขับถ่ายออกมาไม่ได้เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นในลำไส้ จึงไม่ควรกินกากใบกระท่อม และบางคนอาจมีอาการหวาดระแวงเห็นภาพหลอนได้
ยกเลิก “พืชกระท่อม” จากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5
ในวันที่ 26 พ.ค. 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 โดยหลังประกาศยังไม่มีผลทันที จะมีผล 90 วันหลังจากประกาศ หรือ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ทำให้มีผลดังนี้
- ยกเลิกความผิดและโทษเกี่ยวกับพืชกระท่อม
- สามารถเพาะปลูก บริโภค และใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้
- กรณีนำเข้า-ส่งออก หรือนำใบกระท่อมมาแปรรูปเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ จะต้องขออนุญาตก่อน
- ห้ามนำไปผสมกับยาเสพติดชนิดอื่น เช่น สารเสพติดชนิด 4×100
- ห้ามขายให้เยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
- ห้ามขายในสถานศึกษาและวัด
ประโยชน์ที่ได้รับหากยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติด
- สารไมทราไจนีน (mitragynine) เป็นสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในหลายระบบและถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคอย่างกว้างขวาง ซึ่งพบได้เฉพาะในพืชกระท่อมเท่านั้น โดยสารนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ช่วยทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า บรรเทาอาการปวดเมื่อย ต้านการอักเสบ แก้ไอ ลดไข้ และแก้ท้องเสีย
- นำไปใช้บรรเทาอาการปวดแทนมอร์ฟีน
- ใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติด
- บรรเทาความเหนื่อยล้า จากการทำงานหนักกลางแดด
- สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
- ลดคดีเกี่ยวกับกระท่อม และช่วยประหยัดงบประมาณรัฐไปได้อย่างมหาศาล
ผลข้างเคียงของพืชกระท่อม
- มีฤทธิ์กล่อมประสาทและเสพติด
- เบื่ออาหาร
- ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย
- นอนไม่หลับ
- ปากแห้ง
- อาการคลื่นไส้ และอาเจียน
- ผิวหนังคล้ำลง
- มีอาการทางจิต ก้าวร้าว ซึมเศร้า หวาดระแวงเห็นภาพหลอน
- ปวดกล้ามเนื้อ แขนขากระตุก
จากการที่พืชกระท่อมถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 คาดว่าในอนาคตน่าจะมีการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในการรักษาทางการแพทย์กันอย่างแพร่หลายขึ้น และที่สำคัญพืชกระท่อมอาจเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาลก็เป็นได้
อ้างอิง
- พืชกระท่อม ข้อดีหลังการปลดล็อก และประโยชน์ทางการแพทย์
- พืชกระท่อม: 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรที่ได้รับการปลดจากสถานะ “ยาเสพติดให้โทษ”
- ใบกระท่อม ประโยชน์และโทษ หลังปลดล็อกเสรี
- งานประชุมเชิงปฏิบัติการด้านวิชาการ เรื่อง“กระท่อม พืชยาทางการแพทย์แผนไทย”วันที่ 6 ก.ย. 2564 โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- “กระท่อม” ในทางการแพทย์ เป็นยาที่มีสรรพคุณเพียบดังนี้!
- ปลดล็อกพืชกระท่อม ยาขยันพื้นบ้าน ปลูกกิน-ซื้อ-ขาย เสรี ไม่ผิดกฎหมาย